เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
[1648] สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถูกผูกไว้และขังไว้
ซึ่งมีอยู่ในแว่นแคว้นของเรา
ขอชนทั้งหลายจงปล่อยสัตว์เหล่านั้นจากเครื่องผูกให้หมดเถิด
วิธุรบัณฑิตนี้หลุดพ้นจากการจองจำแล้วฉันใด
ขอสัตว์เหล่านั้นจงหลุดพ้นจากเครื่องผูกฉันนั้นเหมือนกัน
[1649] ขอพวกชาวนาชาวไร่จงหยุดพักคราดไถไว้
เล่นมหรสพตลอดเดือนหนึ่งนี้เถิด
ขอเชิญพราหมณ์ทั้งหลายจงมาบริโภคข้าวที่เจือด้วยเนื้อ
พวกนักเลงสุราและพวกที่ชอบดื่มสุราจงดื่มจากถ้วยที่เต็มเปี่ยม
[1650] พวกหญิงแพศยาที่อาศัยอยู่ตามถนนใหญ่
จงเล้าโลมชายผู้มีความต้องการเป็นนิตย์
อนึ่ง ราชบุตรทั้งหลายจงจัดแจงการรักษาในแคว้นให้เข้มแข็ง
อย่าได้เบียดเบียนกันและกัน
ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพยำเกรงแก่ต้นไม้นี้เถิด”
(เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว)
[1651] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[1652] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[1653] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันนำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[1654] ชนเป็นจำนวนมากเห็นวิธุรบัณฑิตกลับมาถึงแล้ว
ต่างก็เลื่อมใส ครั้นวิธุรบัณฑิตมาถึงโดยลำดับแล้ว
ต่างโบกผ้าไปมาด้วยประการฉะนี้แล
วิธุรชาดกที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :446 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 10.เวสสันดรชาดก (547) กัณฑ์ทศพร
10. เวสสันดรชาดก1 (547)
ว่าด้วยพระเจ้าเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีชาติสุดท้าย
กัณฑ์ทศพร
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[1655] ผุสดีผู้มีรัศมีผิวพรรณอันประเสริฐ
มีอวัยวะส่วนด้านหน้าสวยงาม
เธอจงเลือกเอาพร 10 ประการ
ในปฐพีอันเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอเถิด
(เทพธิดาผุสดีกราบทูลว่า)
[1656] ข้าแต่ท้าวเทวราช หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
หม่อมฉันได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หรือ
พระองค์จึงให้หม่อมฉันจุติจากสถานอันน่ารื่นรมย์
ดุจลมพัดต้นไม้ใหญ่ให้โค่นไป
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[1657] เธอมิได้ทำบาปกรรมอะไรไว้เลย
และเธอจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้
แต่บุญของเธอได้หมดสิ้นแล้ว
เหตุนั้น เราจึงกล่าวกับเธออย่างนี้
[1658] ความตายใกล้เธอแล้ว
เธอจักต้องพลัดพรากจากไป
เธอจงรับพร 10 ประการนี้ของเราผู้กำลังจะให้

เชิงอรรถ :
1 พระศาสดาประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงปรารภฝนโบกขรพรรษ (ฝนดุจน้ำตกในใบบัว
มีสีแดง ผู้ต้องการให้เปียกจึงเปียก) ให้เป็นเหตุ ตรัสเวสสันดรชาดกแก่ภิกษุทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ.
10/547/287)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :447 }