เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1639] ปุณณกยักษ์ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องนั้น
ได้ยกวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐที่สุดของชาวแคว้นกุรุ
ลงไว้ในท่ามกลางธรรมสภาแล้ว
ก็ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว
[1640] พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้นแล้ว
ทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง
เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธุรบัณฑิตด้วยพระพาหาทั้ง 2
ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะ
ท่ามกลางธรรมสภาตรงพระพักตร์ ตรัสว่า
[1641] “ท่านเป็นผู้แนะนำพวกเรา
เหมือนนายสารถีบังคับรถหุ้มเกราะ
ชาวแคว้นกุรุทั้งหลายยินดีเพราะได้เห็นท่าน
เราได้ถามท่านแล้ว ขอจงบอกเนื้อความนั้น
ท่านพ้นจากมาณพมาได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[1642] “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
ซึ่งแกล้วกล้าและประเสริฐกว่าคน
ผู้ที่พระองค์เรียกว่ามาณพนั้นมิใช่มนุษย์
เขาเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ
พระองค์ก็ทรงเคยได้ทราบชื่อมาแล้ว
ก็ปุณณกยักษ์นั้นเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวร
[1643] พญานาคทรงพระนามว่าวรุณผู้ครองนาคพิภพ
มีพระกายใหญ่ สะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง
ปุณณกยักษ์รักปรารถนานางนาคกัญญาชื่ออิรันทดี
ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :444 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
[1644] ปุณณกยักษ์นั้นจึงตกลงใจจะฆ่าข้าพระองค์
เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดีผู้มีเอวบางร่างน้อยน่ารัก
ก็ปุณณกยักษ์นั้นแลเป็นผู้พร้อมเพรียงกับภรรยา
ส่วนข้าพระองค์ได้รับอนุญาตพญานาคมา
และได้แก้วมณีมาด้วย”
(พระราชาตรัสว่า)
[1645] “มีต้นไม้ต้นหนึ่งเกิดริมประตูราชมณเฑียรของเรา
มีปัญญาเป็นลำต้น มีศีลเป็นกิ่ง
ต้นไม้นั้นผลิผลต้องตามอรรถและธรรม
มีผลเป็นปัญจโครส1 ดารดาษไปด้วยช้าง ม้า และโค
[1646] เมื่อมหาชนกำลังทำการบูชาต้นไม้นั้น
เล่นเพลินอยู่ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง และดนตรี
มีบุรุษคนหนึ่งไล่ทหารให้หนีไปแล้วถอนต้นไม้นั้นไปด้วย
ต้นไม้ของเรานั้นกลับคืนมาตั้งอยู่ตามเดิม
วิธุรบัณฑิตนี้ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่นั้น
กลับคืนมาสู่ที่อยู่ของตนตามเดิมแล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด
[1647] ขอเชิญอำมาตย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้มีความปลื้มใจด้วยยศ
ที่ได้เพราะอาศัยเราทุก ๆ ท่านทีเดียว
จงแสดงความปลื้มใจของตนให้ปรากฏในวันนี้เถิด
ท่านกระทำบรรณาการให้มากแล้ว
จงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด

เชิงอรรถ :
1 ปัญจโครส หมายถึงผลที่ได้จากนมโค 5 ประการ (นมสด, นมส้ม, เนยใส, เนยข้น, เปรียง) (ขุ.ชา.อ.
10/1645/285)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :445 }