เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า)
[1628] พญานาควรุณได้ตรัสถามปัญาหากับบัณฑิตฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ตรัสถามปัญหากับบัณฑิตฉันนั้น
[1629] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ที่พญานาควรุณตรัสถามแล้ว
ได้พยากรณ์ปัญหาให้พญานาควรุณทรงยินดีฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ให้ทรงยินดีฉันนั้น
[1630] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ทราบว่า พญานาคผู้ประเสริฐ
และนางนาคกัญญาทั้ง 2 พระองค์นั้นพอพระทัย
ก็ไม่ครั่นคร้าม ไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า
ได้กราบทูลท้าววรุณนาคราชว่า
[1631] “ข้าแต่พญานาค พระองค์อย่าทรงวิตกเลย
ข้าพระองค์เป็นส่วย1 ขอพระองค์จงทรงทำกิจ
ด้วยเนื้อหทัยตามที่พระองค์ทรงประสงค์เถิด
ข้าพระองค์จะทำลายสรีระนี้ตามพระประสงค์ของพระองค์เอง”
(พญานาคตรัสว่า)
[1632] “ปัญญานั่นเอง เป็นหัวใจของบัณฑิตทั้งหลาย
พวกเรายินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก
ขอปุณณกเสนาบดีของยักษ์จงได้ภรรยา ณ วันนี้
และจงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุในวันเดียวกันนี้เถิด”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1633] ปุณณกยักษ์นั้นได้นางอิรันทดีนาคกัญญาแล้ว
ก็มีใจชื่นชมโสมนัส ได้กล่าวกับวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐที่สุดแห่งชาวแคว้นกุรุว่า

เชิงอรรถ :
1 ส่วย หมายถึงของที่เรียกเก็บจากพื้นเมืองส่งเป็นภาคหลวง ตามวิธีเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยโบราณ
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 794)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :442 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
[1634] “ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้า
พร้อมเพรียงกับภรรยา
ข้าพเจ้าจะทำกิจให้แก่ท่าน จะให้รัตนะคือแก้วมณีนี้แก่ท่าน
และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุในวันนี้เลยทีเดียว”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[1635] “กัจจานะ ขอท่านจงมีไมตรี
อย่าได้แตกแยกกับภรรยาผู้น่ารักของท่านตลอดไปเถิด
ขอท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบานมีปีติโสมนัส
ท่านได้ให้แก้วมณีแล้ว
ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังกรุงอินทปัตถ์ด้วยเถิด
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[1636] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ ซึ่งมีปัญญาไม่ต่ำทราม
ให้ขึ้นนั่งบนอาสนะข้างหน้าของตนแล้ว
นำไปยังกรุงอินทปัตถ์
[1637] ปุณณกยักษ์นั้นได้นำวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปสู่กรุงอินทปัตถ์
ได้เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์1เสียอีก
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[1638] “โน่น กรุงอินทปัตถ์ปรากฏอยู่
และป่ามะม่วงที่น่ารื่นรมย์ก็เห็นเป็นหย่อม ๆ
ข้าพเจ้าพร้อมกับภรรยาและท่านก็ได้ถึงที่พักอาศัยของตน”

เชิงอรรถ :
1 เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์ หมายถึงธรรมดาใจไปหาอะไรไม่ได้ เป็นแต่ว่ารับอารมณ์ได้ไกล
ท่านจึงเรียกว่า ใจไป อธิบายว่า การเดินทางของม้าสินธพมโนมัย(ของปุณณกยักษ์)นั้น เร็วยิ่งกว่าใจ
รับอารมณ์ (ขุ.ชา.อ. 10/1367/280)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :443 }