เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
[1623] พระองค์ทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย
ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้
พระองค์ดำรงอยู่ในวิมานนี้ได้จนตลอดพระชนมายุแล้ว
จักเสด็จไปสู่เทวโลกซึ่งสูงขึ้นไปกว่านาคพิภพนี้”
(นางนาควิมลาตรัสว่า)
[1624] “ท่านเป็นอำมาตย์คู่ชีพของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด
พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว
ย่อมทรงเศร้าโศกแน่ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี
คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[1625] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี พระองค์ตรัสธรรมของเหล่าสัตบุรุษ
ซึ่งเป็นส่วนแห่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
ที่นักปราชญ์ได้ประพฤติดีแล้วโดยแท้
เพราะบรรดาอันตรายทั้งหลาย เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น
คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏ”
(นางนาควิมลาตรัสถามว่า)
[1626] “ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่า ๆ หรือ
ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นการพนัน
จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้บอกว่า ได้ท่านมาโดยธรรม
ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[1627] “ปุณณกยักษ์นี้เล่นการพนันชนะพระราชาของข้าพระองค์
ผู้เป็นใหญ่ในกรุงอินทปัตถ์นั้น
พระราชาพระองค์นั้นที่ปุณณกยักษ์ชนะแล้ว
จึงได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้
ปุณณกยักษ์นี้จึงได้ข้าพระองค์มาโดยธรรม
มิใช่ได้มาโดยไม่เป็นธรรม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :441 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า)
[1628] พญานาควรุณได้ตรัสถามปัญาหากับบัณฑิตฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ตรัสถามปัญหากับบัณฑิตฉันนั้น
[1629] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ที่พญานาควรุณตรัสถามแล้ว
ได้พยากรณ์ปัญหาให้พญานาควรุณทรงยินดีฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ให้ทรงยินดีฉันนั้น
[1630] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ทราบว่า พญานาคผู้ประเสริฐ
และนางนาคกัญญาทั้ง 2 พระองค์นั้นพอพระทัย
ก็ไม่ครั่นคร้าม ไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า
ได้กราบทูลท้าววรุณนาคราชว่า
[1631] “ข้าแต่พญานาค พระองค์อย่าทรงวิตกเลย
ข้าพระองค์เป็นส่วย1 ขอพระองค์จงทรงทำกิจ
ด้วยเนื้อหทัยตามที่พระองค์ทรงประสงค์เถิด
ข้าพระองค์จะทำลายสรีระนี้ตามพระประสงค์ของพระองค์เอง”
(พญานาคตรัสว่า)
[1632] “ปัญญานั่นเอง เป็นหัวใจของบัณฑิตทั้งหลาย
พวกเรายินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก
ขอปุณณกเสนาบดีของยักษ์จงได้ภรรยา ณ วันนี้
และจงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุในวันเดียวกันนี้เถิด”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1633] ปุณณกยักษ์นั้นได้นางอิรันทดีนาคกัญญาแล้ว
ก็มีใจชื่นชมโสมนัส ได้กล่าวกับวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐที่สุดแห่งชาวแคว้นกุรุว่า

เชิงอรรถ :
1 ส่วย หมายถึงของที่เรียกเก็บจากพื้นเมืองส่งเป็นภาคหลวง ตามวิธีเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยโบราณ
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 794)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :442 }