เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
[1582] ท่านได้ไปยังโลกมนุษย์
เที่ยวแสวงหาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต
กลับมาถึงนาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จหรือ
หรือว่าท่านได้พาเอาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามมาด้วย”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1583] “ท่านผู้นี้แหละคือวิธุรบัณฑิต
ที่พระองค์ทรงปรารถนามาแล้ว
ท่านวิธุรบัณฑิตผู้รักษาธรรม
ข้าพระพุทธเจ้าได้มาแล้วโดยธรรม
เชิญพระองค์ทอดพระเนตรวิธุรบัณฑิต
ผู้จะแสดงธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะเฉพาะพระพักตร์
การสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลายเป็นเหตุนำสุขมาให้โดยแท้”
กาฬาคิริกัณฑ์ จบ
(พญานาคตรัสถามว่า)
[1584] “ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น
ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว ไม่กลัวและไม่อภิวาท
อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[1585] “ข้าแต่พญานาค ข้าพระองค์ไม่กลัว
และไม่ถูกภัยคือความตายคุกคาม
นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารไหว้ตน
[1586] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ตนจะฆ่า
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :433 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
(พญานาคตรัสว่า)
[1587] “บัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง
นักโทษประหารไม่ควรกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่ควรให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน
[1588] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ตนจะฆ่า
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[1589] “ข้าแต่นาคราช วิมานของพระองค์นี้
เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเหมือนเที่ยง
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่พระองค์
ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาอย่างไรหนอ
[1590] วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาเพราะอาศัยอะไร
หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล
พระองค์ทรงสร้างขึ้นเองหรือเหล่าเทวดาถวายพระองค์
ข้าแต่พญานาค ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์
ตามที่พระองค์ทรงได้วิมานนี้เถิด”
(พญานาคตรัสว่า)
[1591] “วิมานนี้ เราจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้
จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้
เรามิได้ทำขึ้นเอง เหล่าเทวดาก็มิได้ถวาย
วิมานนี้เราได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ต่ำทรามของเราเอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :434 }