เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[1576] “แม้ข้าพเจ้าก็รู้ชัดถึงสิ่งที่ผู้มีปัญญาไม่ควรจะดู
แต่ข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วที่ได้ทำไว้แล้วในที่ไหนเลย
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รังเกียจความตายที่จะมาถึงตน”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[1577] ท่านบัณฑิต เชิญเถิด ท่านจงมากับข้าพเจ้าไปดูพิภพ
ของพญานาค ซึ่งมีอานุภาพมาก หาที่เปรียบมิได้
เป็นที่อยู่อันมีการฟ้อนรำขับร้องตามปรารถนา
[1578] เหมือนนิกีฬิตราชธานีเป็นที่ประทับอยู่ของท้าวเวสสุวรรณฉะนั้น
นาคพิภพนั้นเป็นที่เที่ยวเล่นเป็นหมู่ ๆ
ของนางนาคกัญญาตลอดวันและคืนเป็นนิตย์
มีดอกไม้ดารดาษอยู่มากมายหลายชนิด
สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ
[1579] ประกอบด้วยข้าวและน้ำ
เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องและการประโคม
เต็มไปด้วยนางนาคกัญญาที่ประดับอย่างสวยงาม
งดงามไปด้วยผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับ
[1580] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปนั่งบนอาสนะข้างหลัง
ได้พาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามเข้าสู่ภพของพญานาค
[1581] วิธุรบัณฑิตถึงที่อยู่ของพญานาคซึ่งมีอานุภาพมาก
หาที่เปรียบมิได้แล้ว ได้อยู่ข้างหลังของปุณณกยักษ์
พญานาคได้ทอดพระเนตรเห็นลูกเขยของตนก่อความสามัคคี
ตนเองก็รีบตรัสทักทายปราศรัยก่อนเลยทีเดียวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :432 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546)
[1582] ท่านได้ไปยังโลกมนุษย์
เที่ยวแสวงหาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต
กลับมาถึงนาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จหรือ
หรือว่าท่านได้พาเอาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามมาด้วย”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1583] “ท่านผู้นี้แหละคือวิธุรบัณฑิต
ที่พระองค์ทรงปรารถนามาแล้ว
ท่านวิธุรบัณฑิตผู้รักษาธรรม
ข้าพระพุทธเจ้าได้มาแล้วโดยธรรม
เชิญพระองค์ทอดพระเนตรวิธุรบัณฑิต
ผู้จะแสดงธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะเฉพาะพระพักตร์
การสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลายเป็นเหตุนำสุขมาให้โดยแท้”
กาฬาคิริกัณฑ์ จบ
(พญานาคตรัสถามว่า)
[1584] “ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น
ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว ไม่กลัวและไม่อภิวาท
อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[1585] “ข้าแต่พญานาค ข้าพระองค์ไม่กลัว
และไม่ถูกภัยคือความตายคุกคาม
นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารไหว้ตน
[1586] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ตนจะฆ่า
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :433 }