เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) สาธุนรธรรมกัณฑ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”
[1546] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”
[1547] ถ้าบัณฑิตนั้นจักไม่มาภายใน 7 วัน
ข้าพระพุทธเจ้าจักพากันเข้าไปสู่กองไฟทั้งหมด
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความต้องการด้วยชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[1548] “วิธุรบัณฑิตเป็นคนฉลาดหลักแหลม
สามารถแสดงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ได้แจ้งชัด
มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา คงจะปลดเปลื้องตนได้ฉับพลัน
ท่านทั้งหลายอย่ากลัวไปเลย
วิธุรบัณฑิตปลดเปลื้องตนได้แล้วจักรีบกลับมา”
อนันตรเปยยาล จบ

สาธุนรธรรมกัณฑ์
ตอนว่าด้วยธรรมของคนดี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1549] ปุณณกยักษ์นั้นไปยืนคิดอยู่บนยอดภูเขากาฬาคีรีนั้นว่า
เจตนาย่อมเป็นของสูง ๆ ต่ำ ๆ
ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นอยู่ของวิธุรบัณฑิตนี้ไม่มีแก่เรา
เราจักฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้แล้วจักนำแต่หัวใจของเขาไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :426 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) สาธุนรธรรมกัณฑ์
[1550] ปุณณกยักษ์มีจิตคิดประทุษร้ายลงจากยอดเขา
ไปสู่เชิงเขา พักพระมหาสัตว์ไว้ในระหว่างภูเขา
ชำแรกเข้าไปภายในภูเขานั้น จับพระมหาสัตว์
เอาศีรษะหย่อนลงแล้วขว้างลงไปที่พื้นดินที่ไม่มีอะไรกีดขวาง
[1551] วิธุรบัณฑิตเป็นอำมาตย์ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ
เมื่อถูกห้อยศีรษะลงในเหวชันที่น่ากลัว
น่าสยดสยอง น่าหวาดเสียว ก็ไม่สะดุ้งกลัว
ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ดังนี้ว่า
[1552] “ท่านมีรูปร่างดังผู้ประเสริฐแต่หาเป็นคนประเสริฐไม่
คล้ายจะเป็นคนสำรวม แต่ไม่สำรวม
ทำกรรมหยาบช้า ไม่มีประโยชน์อย่างยิ่ง
กุศลแม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มีในใจของท่าน
[1553] ท่านปรารถนาจะโยนข้าพเจ้าลงไปในเหว
ท่านจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า
วันนี้ ผิวพรรณของท่านเหมือนของอมนุษย์
ท่านจงบอกข้าพเจ้า ท่านเป็นเทวดาได้อย่างไร”
(ปุณณกยักษ์ตอบว่า)
[1554] “ถ้าท่านทราบมาแล้วว่าข้าพเจ้าชื่อปุณณกะ
และเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวรพญานาคใหญ่นามว่าวรุณ
ผู้ครอบครองนาคพิภพ มีรูปงามสะอาด
ถึงพร้อมด้วยผิวพรรณแห่งสรีระและกำลัง
[1555] ข้าพเจ้ารักใคร่อยากได้นางนาคกัญญา
ชื่ออิรันทดี ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น
ท่านผู้เป็นปราชญ์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดี
ผู้มีเอวงามน่ารักนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจะฆ่าท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :427 }