เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ราชวสตีธรรม
[1493] ราชเสวกผู้เป็นปราชญ์พึงโอนอ่อนเหมือนคันธนู
และพึงโอนเอนไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1494] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู
เป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา1 รู้จักประมาณในการบริโภค
มีปัญญารักษาตน แกล้วกล้า
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1495] ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงซึ่งเป็นเหตุให้ถึงความสิ้นเดช
คนที่สิ้นปัญญาย่อมเข้าถึงโรคไอ โรคมองคร่อ
ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง
[1496] ราชเสวกไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งไปทุกเมื่อ
เมื่อถึงเวลา ควรพูดพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ
[1497] ราชเสวกเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระทั่งผู้อื่น
เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่พูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1498] ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาและบิดา
ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
มีวาจาอ่อนหวาน กล่าววาจาละมุนละไม
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1499] ราชเสวกเป็นผู้ได้รับแนะนำดี มีศิลปะ ฝึกฝนแล้ว
เป็นผู้ทำประโยชน์ แน่นอน อ่อนโยน
ไม่ประมาท สะอาดและขยัน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

เชิงอรรถ :
1 ไม่มีลิ้นเหมือนปลา หมายถึงข้าราชการควรมีกิริยาเหมือนไม่มีลิ้น โดยพูดให้น้อย (ทำงานให้มาก)
เหมือนปลาพูดไม่ได้ เพราะไม่มีลิ้น (ขุ.ชา.อ. 10/1494/238)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :418 }