เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ราชวสตีธรรม
[1475] ราชเสวกที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้
ก็ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจความพอใจเป็นต้น
พึงเป็นผู้สม่ำเสมอเหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง
ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดีฉะนั้น
ราชเสวกผู้เห็นปานนี้นั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1476] ราชเสวกเมื่อกระทำราชกิจทุกอย่าง
เหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง
ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดี
พึงอยู่ในราชสำนักได้
[1477] ราชเสวกนี้ผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย
ที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้ในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม
ไม่พึงหวาดหวั่น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1478] ราชเสวกต้องเป็นผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย
ทำราชกิจทุกอย่างไม่ว่าเวลากลางวันหรือกลางคืน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1479] ทางใดที่เขาทำประดับตกแต่งไว้เรียบร้อยดี
เพื่อเสด็จพระราชดำเนินของพระราชา พระองค์ทรงอนุญาตแล้ว
ราชเสวกก็ไม่ควรเดินตามทางนั้น
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1480] ราชเสวกไม่พึงบริโภคกามทัดเทียมกับพระราชา
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ พึงดำเนินการตามหลังในทุก ๆ อย่าง1
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

เชิงอรรถ :
1 พึงดำเนินการตามหลังในทุก ๆ อย่าง หมายถึงข้าราชสำนักพึงดำเนินการ (บริโภค) ในกามคุณทุก
อย่างมีรูปเป็นต้นตามหลังพระราชา (ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้า) อย่างเดียว โดยความ คือใช้แต่ของที่
ด้อยกว่าเท่านั้น (ขุ.ชา.อ. 10/1480/235)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :415 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ราชวสตีธรรม
[1481] ราชเสวกไม่พึงใช้สอยเสื้อผ้า ประดับประดาดอกไม้
เครื่องลูบไล้ทัดเทียมกับพระราชา
ไม่พึงประพฤติอากัปกิริยาหรือการพูดจาทัดเทียมกับพระราชา
แต่ควรทำอากัปกิริยาอีกอย่างหนึ่งต่างหาก
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1482] เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับอำมาตย์
พระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ อำมาตย์ต้องเป็นคนฉลาด
ไม่พึงทำการทอดสนิทในพระชายาทั้งหลายของพระราชา
[1483] ราชเสวกไม่พึงเป็นคนฟุ้งซ่าน ตลบตะแลง
พึงมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน
สำรวมอินทรีย์ ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1484] ราชเสวกไม่พึงเล่นหัว เจรจาปราศรัย
ในที่ลับกับพระชายาทั้งหลายของพระราชานั้น
ไม่พึงเบียดบังทรัพย์จากพระคลังหลวง
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1485] ราชเสวกไม่พึงหลับนอนมากนัก
ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย
ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1486] ราชเสวกไม่พึงนั่งร่วมพระภัทรบิฐ
พระบัลลังก์ เก้าอี้พระที่นั่ง
เรือพระที่นั่ง และรถพระที่นั่ง
ด้วยการทนงตัวว่าเป็นคนโปรดปราน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :416 }