เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ราชวสตีธรรม
เพราะนั่นมิใช่ธรรมของพวกข้าพระองค์
ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์
จะพึงมีอาสนะเสมอกับพระองค์ได้อย่างไร
เหมือนสุนัขจิ้งจอกตัวมีชาติต่ำต้อย
จะพึงมีอาสนะเสมอกับเสือได้อย่างไร พระเจ้าข้า
ลักขณกัณฑ์ จบ

ราชวสตีธรรม
ว่าด้วยธรรมสำหรับผู้อยู่ในราชสำนัก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1471] “วิธุรบัณฑิตนั้นมีความดำริในใจที่ไม่หดหู่
ได้กล่าวกับบุตร ธิดา อำมาตย์ ญาติ
และเพื่อนสนิทดังนี้ว่า
[1472] “ลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงพากันมา
นั่งฟังราชวสตีธรรม1 ที่เป็นเหตุให้บุคคล
ผู้เข้าไปสู่ราชตระกูลแล้วได้ยศ
[1473] เพราะบุคคลผู้เข้าไปสู่ราชตระกูล
มีคุณความดียังไม่ปรากฏ ย่อมไม่ได้ยศ
ผู้เป็นราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป
ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทไม่ว่าในกาลไหน ๆ
[1474] เมื่อใด พระราชาทรงทราบปัญญา
และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น
เมื่อนั้น พระองค์ก็ทรงวางพระทัย
และไม่ทรงปกปิดความลับของพระองค์

เชิงอรรถ :
1 ราชวสตีธรรม หมายถึงธรรมของผู้รับราชการ, ผู้ปฏิบัติราชการ (ขุ.ชา.อ. 10/1472/233)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :414 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ราชวสตีธรรม
[1475] ราชเสวกที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้
ก็ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจความพอใจเป็นต้น
พึงเป็นผู้สม่ำเสมอเหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง
ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดีฉะนั้น
ราชเสวกผู้เห็นปานนี้นั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1476] ราชเสวกเมื่อกระทำราชกิจทุกอย่าง
เหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง
ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดี
พึงอยู่ในราชสำนักได้
[1477] ราชเสวกนี้ผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย
ที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้ในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม
ไม่พึงหวาดหวั่น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1478] ราชเสวกต้องเป็นผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย
ทำราชกิจทุกอย่างไม่ว่าเวลากลางวันหรือกลางคืน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1479] ทางใดที่เขาทำประดับตกแต่งไว้เรียบร้อยดี
เพื่อเสด็จพระราชดำเนินของพระราชา พระองค์ทรงอนุญาตแล้ว
ราชเสวกก็ไม่ควรเดินตามทางนั้น
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[1480] ราชเสวกไม่พึงบริโภคกามทัดเทียมกับพระราชา
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ พึงดำเนินการตามหลังในทุก ๆ อย่าง1
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

เชิงอรรถ :
1 พึงดำเนินการตามหลังในทุก ๆ อย่าง หมายถึงข้าราชสำนักพึงดำเนินการ (บริโภค) ในกามคุณทุก
อย่างมีรูปเป็นต้นตามหลังพระราชา (ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้า) อย่างเดียว โดยความ คือใช้แต่ของที่
ด้อยกว่าเท่านั้น (ขุ.ชา.อ. 10/1480/235)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :415 }