เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ลักขณกัณฑ์
[1465] ได้กล่าวกับภรรยาผู้ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์และน้ำหอม
ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุทว่า
นางผู้เจริญ ผู้มีดวงตาสีน้ำตาล มานี่เถิด
จงเรียกบุตรทั้งหลายมาฟังคำสั่งสอน
[1466] นางอโนชาได้ฟังคำของสามีแล้ว
ได้กล่าวกับลูกสะใภ้ผู้มีเล็บแดง มีนัยน์ตางามว่า
“เจ้าผู้มีผิวพรรณดังดอกบัวเขียว
เจ้าจงเรียกบุตรทั้งหลายเหล่านั้นมาเถิด”
[1467] พระโพธิสัตว์ผู้รักษาธรรมได้จุมพิตบุตรเหล่านั้น
ผู้มาแล้วที่กระหม่อม เป็นผู้ไม่หวั่นไหว
ครั้นเรียกมาแล้วได้สั่งสอนว่า
พระราชาในกรุงอินทปัตถ์นี้ได้พระราชทานพ่อให้แก่มาณพ
[1468] ตั้งแต่วันนี้ไป พ่อจะมีความสุขของตนเองได้เพียง 3 วัน
ต่อจากนั้นไป พ่อก็จะต้องเป็นอยู่ในอำนาจของมาณพนั้น
เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา
พ่อกลับมาเพื่อจะสั่งสอนลูก ๆ ว่า
พ่อยังมิได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูก ๆ แล้วจะพึงไปได้อย่างไร
[1469] ถ้าพระราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้มีโภคทรัพย์ที่น่าใคร่เป็นจำนวนมาก
ทรงประสานชนผู้เป็นมิตร พึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า
เมื่อก่อน พวกเธอรู้เหตุการณ์เก่า ๆ อะไรบ้าง
พ่อของพวกเธอได้พร่ำสอนอะไรไว้ในก่อนบ้าง
[1470] ก็ถ้าพระราชาจะพึงตรัสว่า
พวกเธอเป็นผู้มีอาสนะเสมอกันกับเราในราชตระกูลนี้
คนอื่นใครเล่าจะเป็นคนมีชาติตระกูลสมควรกับพระราชาไม่มี
ลูกทั้งหลายพึงประนมมือกราบทูลพระราชานั้นอย่างนี้ว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนี้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :413 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ราชวสตีธรรม
เพราะนั่นมิใช่ธรรมของพวกข้าพระองค์
ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์
จะพึงมีอาสนะเสมอกับพระองค์ได้อย่างไร
เหมือนสุนัขจิ้งจอกตัวมีชาติต่ำต้อย
จะพึงมีอาสนะเสมอกับเสือได้อย่างไร พระเจ้าข้า
ลักขณกัณฑ์ จบ

ราชวสตีธรรม
ว่าด้วยธรรมสำหรับผู้อยู่ในราชสำนัก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1471] “วิธุรบัณฑิตนั้นมีความดำริในใจที่ไม่หดหู่
ได้กล่าวกับบุตร ธิดา อำมาตย์ ญาติ
และเพื่อนสนิทดังนี้ว่า
[1472] “ลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงพากันมา
นั่งฟังราชวสตีธรรม1 ที่เป็นเหตุให้บุคคล
ผู้เข้าไปสู่ราชตระกูลแล้วได้ยศ
[1473] เพราะบุคคลผู้เข้าไปสู่ราชตระกูล
มีคุณความดียังไม่ปรากฏ ย่อมไม่ได้ยศ
ผู้เป็นราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป
ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทไม่ว่าในกาลไหน ๆ
[1474] เมื่อใด พระราชาทรงทราบปัญญา
และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น
เมื่อนั้น พระองค์ก็ทรงวางพระทัย
และไม่ทรงปกปิดความลับของพระองค์

เชิงอรรถ :
1 ราชวสตีธรรม หมายถึงธรรมของผู้รับราชการ, ผู้ปฏิบัติราชการ (ขุ.ชา.อ. 10/1472/233)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :414 }