เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ลักขณกัณฑ์
[1455] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม ทรงสุตะ
หมั่นสอบถาม เข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหูสูต โดยความเคารพ
[1456] คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน
ควรมีความประพฤติปลอดภัยอย่างนี้
ควรสงเคราะห์ได้อย่างนี้
[1457] ไม่ควรเบียดเบียนกันและกันอย่างนี้
และคนควรปฏิบัติอย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์
จากโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้ด้วยประการฉะนี้”
ฆราวาสปัญหา จบ

ลักขณกัณฑ์
ตอนว่าด้วยลักษณะของบัณฑิต
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1458] “มาเถิดท่าน ประเดี๋ยวเราจักไปกัน
พระราชาผู้เป็นใหญ่
ได้ทรงพระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว
ขอท่านจงปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเท่านั้น
นี้เป็นธรรมเก่า
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[1459] “มาณพ ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านได้แล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พระราชาผู้เป็นใหญ่ทรงพระราชทานให้ท่านแล้ว
แต่พวกเราขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนของตนสัก 3 วัน
และขอให้ท่านยับยั้งรออยู่ตลอดเวลา
ที่ข้าพเจ้าจะได้สั่งสอนบุตรทั้งหลายก่อน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :411 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ลักขณกัณฑ์
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[1460] “คำที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดนั้น
จงเป็นไปตามที่ท่านกล่าวอย่างนั้น
ข้าพเจ้าจะพักอยู่ 3 วัน ตั้งแต่วันนี้ไป
ขอท่านจงทำหน้าที่ในเรือนเถิด
จงสั่งสอนบุตรและภรรยาเสียแต่ในวันนี้
โดยวิธีที่บุตรและภรรยาของท่านจะพึงมีความสุขใจ
เมื่อท่านจากไปแล้ว
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1461] ปุณณกยักษ์ผู้มีโภคทรัพย์จำนวนมากกล่าวว่า ตกลง
แล้วได้หลีกไปพร้อมกับวิธุรบัณฑิต
เป็นอารยชนผู้มีมรรยาทประเสริฐสุด
ได้เข้าไปสู่ภายในเมืองของวิธุรบัณฑิต
ที่เต็มไปด้วยช้างและม้าอาชาไนย
[1462] ปราสาทของพระโพธิสัตว์มีอยู่ 3 หลัง คือ
(1) โกญจนปราสาท (2) มยูรปราสาท (3) ปิยเกตปราสาท
ในปราสาท 3 หลังนั้น พระโพธิสัตว์ได้พาปุณณกยักษ์
เข้าไปยังปราสาทซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง
มีภักษาเพียงพอ มีข้าวน้ำมากมาย
ดังวิมานของท้าววาสวะ ซึ่งชื่อว่ามสักกสาระ
[1463] ในปราสาทหลังนั้น มีนารีทั้งหลายประดับอย่างงดงาม
ฟ้อนรำขับร้องเพลงอย่างไพเราะจับใจ
เหมือนนางเทพอัปสรในเทวโลกกล่อมปุณณกยักษ์อยู่
[1464] พระโพธิสัตว์ผู้รักษาธรรมได้รับรองปุณณกยักษ์
ด้วยนางบำเรอที่น่ายินดี ทั้งข้าวและน้ำแล้ว
คิดถึงประโยชน์ส่วนตน ได้เข้าไปในสำนักของภรรยาในกาลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :412 }