เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) อักขกัณฑ์
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1440] “ช้าง ม้า โค ตุ้มหูแก้วมณี
รัตนะแม้อื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์
บัณฑิตชื่อว่าวิธุระเป็นผู้ประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวงเหล่านั้น
ข้าพระองค์ได้ชนะพระองค์แล้ว
โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตนั้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[1441] “วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นเหมือนตัวของเรา เป็นสรณะ เป็นคติ
เป็นที่พึ่ง เป็นที่เร้น และเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของเรา
ท่านไม่ควรเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา
วิธุรบัณฑิตนี้เท่ากับชีวิตของเรา คือตัวเราเอง”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1442] “การโต้แย้งกันของข้าพระองค์กับพระองค์จะพึงเป็นไปนาน
พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตนั้นดูดีกว่า
วิธุรบัณฑิตนี้แหละจะไขข้อข้องใจนี้แก่เราทั้งหลายได้
วิธุรบัณฑิตจักกล่าวคำใด คำนั้นก็จักเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้ง 2”
(พระราชาตรัสว่า)
[1443] “มาณพ ท่านพูดจริงทีเดียว และไม่ได้พูดคำรุนแรงแก่เรา
พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตกันดูเถิด
เราทั้ง 2 คนจงยินดีคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1444] “เทวดาทั้งหลายรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุชื่อว่าวิธุระ
ผู้ตั้งอยู่ในธรรมจริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น
ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาสหรือเป็นพระญาติของพระราชา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :408 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) อักขกัณฑ์
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[1445] “ทาสมี 4 จำพวก คือ
(1) ทาสในเรือนเบี้ย (2) ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์
(3) ทาสที่ยอมตนเข้าเป็นข้าเฝ้า (4) ทาสเชลย1
[1446] ในหมู่คนมีทาส 4 จำพวกเหล่านี้
แม้ข้าพระองค์ก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว
ความเจริญหรือความเสื่อมจะมีแก่พระราชาก็ตาม
ข้าพระองค์ไปสู่ที่อื่นก็ยังคงเป็นทาสของสมมติเทพอยู่นั่นเอง
มาณพ พระราชาก็จะพึงพระราชทานตัวข้าพเจ้าแก่ท่านโดยธรรม”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1447] “ชัยชนะนี้เป็นชัยชนะครั้งที่ 2 ของข้าพระองค์ในวันนี้
เพราะว่าวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ถูกข้าพระองค์ถามแล้ว
ได้ชี้แจงปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง
พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ
วิธุรบัณฑิตได้กล่าวไว้ถูกต้องดีแล้ว
พระราชาไม่ทรงอนุญาตให้วิธุรบัณฑิตนี้แก่ข้าพระองค์”
(พระราชาตรัสว่า)
[1448] “กัจจานะ หากวิธุรบัณฑิตได้ชี้แจงปัญหาแก่พวกเราอย่างนี้ว่า
เราเป็นทาส เรามิได้เป็นญาติเลย ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิต
ผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย
พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด”
อักขกัณฑ์ จบ

เชิงอรรถ :
1 ทาสในเรือนเบี้ย หมายถึงทาสผู้เกิดในครรภ์ของนางทาสหรือนางทาสี ทาสที่ยอมตนเป็นข้าเฝ้า
หมายถึงพวกคนที่เกิดในตระกูลผู้รับใช้ ยอมตนเข้าไปเป็นทาสเขา ทาสเชลย หมายถึงพวกคนที่พลัดที่
อยู่ของตน เพราะราชภัย โจรภัย หรือตกเป็นเชลย ยอมไปอยู่ในแผ่นดินอื่น (ขุ.ชา.อ. 10/1445/223)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :409 }