เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) อักขกัณฑ์
[1435] ข้าแต่พระเจ้าสุรเสนปัญจาละผู้มีพระกิตติศัพท์โด่งดัง
ข้าแต่พระเจ้ามัจฉะ พระเจ้ามัททะ
พร้อมด้วยชาวเกกกชนบททั้งหลาย
ขอพระราชาเหล่านี้จงทรงทอดพระเนตรการต่อสู้
ของข้าพระองค์ทั้งหลายโดยการไม่ฉ้อโกง
มิใช่ไม่ทรงทำใครให้เป็นพยานในที่ประชุมเลย”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า)
[1436] “พระราชาของชาวแคว้นกุรุและปุณณกยักษ์ทั้ง 2 นั้น
ต่างก็มัวเมาในการเล่นการพนันพากันเข้าไปสู่โรงเล่นการพนัน
พระราชาทรงเลือกอยู่จึงได้รับความปราชัย
ส่วนปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะ
[1437] พระราชาและปุณณกยักษ์ทั้ง 2 นั้น
เมื่อลูกสะกามีพร้อมแล้วก็ได้เล่นการพนันในโรงเล่นการพนันนั้น
ปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะพระราชาผู้แกล้วกล้าและประเสริฐกว่าชน
ในท่ามกลางพระราชาและพยานทั้งหลาย
เสียงบันลือลั่นได้มีขึ้นในสนามการพนันนั้น”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1438] “ข้าแต่มหาราช บรรดาเราทั้ง 2 ที่ยังพยายามเล่นอยู่
ความชนะและความแพ้ย่อมตกแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน
พระองค์ทรงเสื่อมจากทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ทรงแพ้แล้ว
ขอพระองค์จงทรงพระราชทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์โดยเร็วเถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[1439] ท่านกัจจานะ ช้าง ม้า โค ตุ้มหูแก้วมณี
และรัตนะที่ประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลายมีอยู่ในแผ่นดินของเรา
ท่านจงรับไปเถิด เชิญขนไปตามปรารถนาเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :407 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) อักขกัณฑ์
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1440] “ช้าง ม้า โค ตุ้มหูแก้วมณี
รัตนะแม้อื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์
บัณฑิตชื่อว่าวิธุระเป็นผู้ประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวงเหล่านั้น
ข้าพระองค์ได้ชนะพระองค์แล้ว
โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตนั้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[1441] “วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นเหมือนตัวของเรา เป็นสรณะ เป็นคติ
เป็นที่พึ่ง เป็นที่เร้น และเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของเรา
ท่านไม่ควรเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา
วิธุรบัณฑิตนี้เท่ากับชีวิตของเรา คือตัวเราเอง”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1442] “การโต้แย้งกันของข้าพระองค์กับพระองค์จะพึงเป็นไปนาน
พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตนั้นดูดีกว่า
วิธุรบัณฑิตนี้แหละจะไขข้อข้องใจนี้แก่เราทั้งหลายได้
วิธุรบัณฑิตจักกล่าวคำใด คำนั้นก็จักเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้ง 2”
(พระราชาตรัสว่า)
[1443] “มาณพ ท่านพูดจริงทีเดียว และไม่ได้พูดคำรุนแรงแก่เรา
พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตกันดูเถิด
เราทั้ง 2 คนจงยินดีคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1444] “เทวดาทั้งหลายรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุชื่อว่าวิธุระ
ผู้ตั้งอยู่ในธรรมจริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น
ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาสหรือเป็นพระญาติของพระราชา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :408 }