เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
[1383] ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นเวปุลลบรรพตซึ่งเป็นภูเขาศิลาล้วน
เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่กินนร
เที่ยวแสวงหาแก้วมณีดวงประเสริฐอยู่
จึงได้เห็นแก้วมณีนั้นในท่ามกลางยอดเขา
[1384] ครั้นได้เห็นแก้วมณีอันมีรัศมีผุดผ่อง
เป็นแก้วมณีที่ประเสริฐสุด
สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจมุ่งหมาย
รุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่กับหมู่แก้วบริวารเป็นอันมาก
สว่างไสวอยู่ดังสายฟ้าในอากาศ
[1385] จึงได้ถือแก้วไพฑูรย์ชื่อว่า มโนหรจินดา
อันมีค่ามาก มีอานุภาพมาก เป็นผู้มีวรรณะไม่ทราม
ขึ้นขี่หลังม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว
[1386] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปถึงกรุงอินทปัตถ์
ลงมาแล้วเข้าไปสู่ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ
ไม่เกรงกลัวพระราชา 101 พระองค์
ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นั้น
กล่าวท้าทายด้วยสะกาว่า
[1387] บรรดาพระราชาในราชสมาคมนี้ พระองค์ไหนหนอ
จะทรงชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐของข้าพระองค์ได้
หรือข้าพระองค์จะพึงชนะพระราชาพระองค์ไหน
ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ
เมื่อชนะจะชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐอันยอดเยี่ยม
กับพระราชาพระองค์ไหน
อีกประการหนึ่ง พระราชาพระองค์ไหนจะทรงชนะข้าพระองค์
ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :398 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสถามว่า)
[1388] “ชาติภูมิของท่านอยู่แคว้นไหน
ถ้อยคำของท่านนี้ไม่ใช่ถ้อยคำของชาวกุรุรัฐเลย
ท่านมิได้เกรงกลัวเราทั้งมวลด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณ
ท่านจงบอกชื่อและพวกพ้องของท่านแก่เรา”
(ปุณณกยักษ์ทูลตอบว่า)
[1389] “ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เป็นมาณพ
กัจจายนโคตรชื่ออนูนะ
ญาติ ๆ และพวกพ้องของข้าพระองค์อยู่ในแคว้นอังคะ
ต่างก็พากันเรียกข้าพระองค์อย่างนี้
ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์มาถึงเมืองนี้
ด้วยต้องการที่จะเล่นการพนันสะกา”
(พระราชาทั้งหลายตรัสว่า)
[1390] “พระราชาทรงชำนาญการเล่นสะกา
เมื่อทรงชนะจะพึงนำเอาแก้วเหล่าใดไป
แก้วเหล่านั้นของมาณพมีอยู่หรือ
แก้วของพระราชามีอยู่เป็นจำนวนมาก
ท่านเป็นคนเข็ญใจจะมาพนันกับพระราชาเหล่านั้น
ผู้มีทรัพย์มากมายได้อย่างไร”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1391] “แก้วมณีของข้าพระองค์นี้
ชื่อว่าสามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา
นักเลงสะกาชนะข้าพระองค์แล้วพึงนำแก้วมณีดวงประเสริฐ
สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา
และม้าอาชาไนยเป็นที่เกรงขามของศัตรู
ของข้าพระองค์ทั้ง 2 นี้ไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :399 }