เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
[1377] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระนางวิมลานั้นทรงแพ้พระครรภ์
ทรงปรารถนาซึ่งดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต
ข้าพระองค์จะถวายดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น
แก่ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลาทั้ง 2 พระองค์นั้น
เพราะเหตุนั้น ท้าวเธอทั้ง 2 พระองค์นั้น
จะพระราชทานพระนางอิรันทดีให้แก่ข้าพระองค์
[1378] ปุณณกยักษ์นั้นทูลลาท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศ
เป็นใหญ่แห่งหมู่ยักษ์แล้ว
ไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนในที่นั้นนั่นแหละว่า
เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มา ณ ที่นี้เถิด
[1379] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง 2 ข้างประดับด้วยทอง
มีกีบหุ้มแล้วแก้วมณีแดง
มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง
[1380] ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว
จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว
ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา
เหาะไปในอากาศกลางหาว
[1381] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปยังกรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์นัก
เป็นนครของพระเจ้าอังคะที่พวกข้าศึกไม่กล้าเข้าใกล้
มีภักษาหาร ข้าว และน้ำมากมาย
ดังภพของท้าววาสวะ ซึ่งชื่อว่ามสักกสาระ
[1382] เป็นนครที่อึกทึกกึกก้องไปด้วยฝูงนกยูงและนกกระเรียน
อื้ออึงไปด้วยฝูงนกต่าง ๆ ชนิด
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนก
มีนกต่าง ๆ ส่งเสียงร่ำร้องอยู่อึงมี่
มีเนินสวยงาม ดารดาษไปด้วยดอกไม้เหมือนภูเขาหิมพานต์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :397 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
[1383] ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นเวปุลลบรรพตซึ่งเป็นภูเขาศิลาล้วน
เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่กินนร
เที่ยวแสวงหาแก้วมณีดวงประเสริฐอยู่
จึงได้เห็นแก้วมณีนั้นในท่ามกลางยอดเขา
[1384] ครั้นได้เห็นแก้วมณีอันมีรัศมีผุดผ่อง
เป็นแก้วมณีที่ประเสริฐสุด
สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจมุ่งหมาย
รุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่กับหมู่แก้วบริวารเป็นอันมาก
สว่างไสวอยู่ดังสายฟ้าในอากาศ
[1385] จึงได้ถือแก้วไพฑูรย์ชื่อว่า มโนหรจินดา
อันมีค่ามาก มีอานุภาพมาก เป็นผู้มีวรรณะไม่ทราม
ขึ้นขี่หลังม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว
[1386] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปถึงกรุงอินทปัตถ์
ลงมาแล้วเข้าไปสู่ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ
ไม่เกรงกลัวพระราชา 101 พระองค์
ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นั้น
กล่าวท้าทายด้วยสะกาว่า
[1387] บรรดาพระราชาในราชสมาคมนี้ พระองค์ไหนหนอ
จะทรงชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐของข้าพระองค์ได้
หรือข้าพระองค์จะพึงชนะพระราชาพระองค์ไหน
ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ
เมื่อชนะจะชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐอันยอดเยี่ยม
กับพระราชาพระองค์ไหน
อีกประการหนึ่ง พระราชาพระองค์ไหนจะทรงชนะข้าพระองค์
ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :398 }