เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
[1370] ภพนาคนั้นเขาเรียกว่า โภควดีนครบ้าง
วาสนานครบ้าง หิรัญวดีนครบ้าง
เป็นเมืองนิรมิตล้วนแต่ทองคำ
สำเร็จแก่พญานาคผู้สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง
[1371] ป้อมและเชิงเทินสร้างมีรูปทรงเหมือนคออูฐ
ทำด้วยแก้วแดงและแก้วลาย
ในนาคพิภพนั้น มีปราสาททำด้วยศิลา
มุงด้วยกระเบื้องทองคำ
[1372] ในนาคพิภพนั้น มีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า
ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด ไม้จิก
ไม้เกด ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์
ไม้มะม่วงหอม ไม้ชะบา และไม้ย่านทราย
[1373] ไม้จำปา ไม้กากะทิง มะลิซ้อน มะลิลา
และไม้กระเบา ต้นไม้ในนาคพิภพเหล่านี้
มีกิ่งโน้มเข้าหากัน ยังมณเฑียรของนาคราชให้งามยิ่งนัก
[1374] ในนาคพิภพนั้น มีต้นอินทผลัมสำเร็จแล้วด้วยแก้วอินทนิล
ผลิดอกล้วนแต่ทองเป็นนิตย์จำนวนมาก
ซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววรุณนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก ผู้ผุดเกิด
[1375] พญานาคนั้นมีมเหสีกำลังสาวรุ่นทรงพระนามว่าวิมลา
มีพระรูปโฉมสง่างามดังแท่งทองคำ
สูงโปร่งสะโอดสะองดังหน่อเถาจิงจ้อดำ
ทั้งคู่มีสัณฐานดังผลมะพลับงดงามน่าชมยิ่งนัก
[1376] มีพระฉวีวรรณแดงประดุจน้ำครั่ง
เปรียบเสมือนดอกกรรณิการ์ที่แย้มบานน้อมลง
เหมือนดังนางอัปสรที่เที่ยวไปในภพชั้นดาวดึงส์
หรือเหมือนสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :396 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
[1377] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระนางวิมลานั้นทรงแพ้พระครรภ์
ทรงปรารถนาซึ่งดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต
ข้าพระองค์จะถวายดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น
แก่ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลาทั้ง 2 พระองค์นั้น
เพราะเหตุนั้น ท้าวเธอทั้ง 2 พระองค์นั้น
จะพระราชทานพระนางอิรันทดีให้แก่ข้าพระองค์
[1378] ปุณณกยักษ์นั้นทูลลาท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศ
เป็นใหญ่แห่งหมู่ยักษ์แล้ว
ไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนในที่นั้นนั่นแหละว่า
เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มา ณ ที่นี้เถิด
[1379] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง 2 ข้างประดับด้วยทอง
มีกีบหุ้มแล้วแก้วมณีแดง
มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง
[1380] ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว
จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว
ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา
เหาะไปในอากาศกลางหาว
[1381] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปยังกรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์นัก
เป็นนครของพระเจ้าอังคะที่พวกข้าศึกไม่กล้าเข้าใกล้
มีภักษาหาร ข้าว และน้ำมากมาย
ดังภพของท้าววาสวะ ซึ่งชื่อว่ามสักกสาระ
[1382] เป็นนครที่อึกทึกกึกก้องไปด้วยฝูงนกยูงและนกกระเรียน
อื้ออึงไปด้วยฝูงนกต่าง ๆ ชนิด
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนก
มีนกต่าง ๆ ส่งเสียงร่ำร้องอยู่อึงมี่
มีเนินสวยงาม ดารดาษไปด้วยดอกไม้เหมือนภูเขาหิมพานต์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :397 }