เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
ในเรื่องนี้ คนทั้งหลายยังกล่าวแย้งกันอยู่
ขอพระองค์ได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์
พระองค์ทรงเรียกใครเล่าว่า เป็นบัณฑิต”
(พญานาควรุณตรัสว่า)
[1365] “บัณฑิตชื่อว่าวิธุระ ผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรม
แก่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ถ้าท่านได้ยินได้ฟังมาแล้ว
ขอท่านจงไปนำบัณฑิตนั้นมา
ครั้นท่านได้มาโดยชอบธรรมแล้ว
นางอิรันทดีจงเป็นผู้บำเรอเท้า (ภรรยา) ของท่านเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1366] ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้สดับพระดำรัสของท้าววรุณนาคราชนี้แล้ว
ก็ยินดียิ่งนัก ลุกขึ้นแล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตน
ผู้อยู่ในที่นั้นนั่นแหละว่า
“เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มาที่นี้นั่นแหละให้ได้
[1367] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง 2 ข้างประดับด้วยทอง
มีกีบหุ้มแล้วด้วยแก้วมณีแดง
มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า)
[1368] “ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว
จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว
ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา
เหาะไปในอากาศกลางหาว
[1369] ปุณณกยักษ์นั้นกำหนัดด้วยกามราคะ
กำลังปรารถนานางอิรันทดีนาคกัญญา
ไปกราบทูลท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศเป็นใหญ่แห่งภูตว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :395 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
[1370] ภพนาคนั้นเขาเรียกว่า โภควดีนครบ้าง
วาสนานครบ้าง หิรัญวดีนครบ้าง
เป็นเมืองนิรมิตล้วนแต่ทองคำ
สำเร็จแก่พญานาคผู้สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง
[1371] ป้อมและเชิงเทินสร้างมีรูปทรงเหมือนคออูฐ
ทำด้วยแก้วแดงและแก้วลาย
ในนาคพิภพนั้น มีปราสาททำด้วยศิลา
มุงด้วยกระเบื้องทองคำ
[1372] ในนาคพิภพนั้น มีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า
ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด ไม้จิก
ไม้เกด ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์
ไม้มะม่วงหอม ไม้ชะบา และไม้ย่านทราย
[1373] ไม้จำปา ไม้กากะทิง มะลิซ้อน มะลิลา
และไม้กระเบา ต้นไม้ในนาคพิภพเหล่านี้
มีกิ่งโน้มเข้าหากัน ยังมณเฑียรของนาคราชให้งามยิ่งนัก
[1374] ในนาคพิภพนั้น มีต้นอินทผลัมสำเร็จแล้วด้วยแก้วอินทนิล
ผลิดอกล้วนแต่ทองเป็นนิตย์จำนวนมาก
ซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววรุณนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก ผู้ผุดเกิด
[1375] พญานาคนั้นมีมเหสีกำลังสาวรุ่นทรงพระนามว่าวิมลา
มีพระรูปโฉมสง่างามดังแท่งทองคำ
สูงโปร่งสะโอดสะองดังหน่อเถาจิงจ้อดำ
ทั้งคู่มีสัณฐานดังผลมะพลับงดงามน่าชมยิ่งนัก
[1376] มีพระฉวีวรรณแดงประดุจน้ำครั่ง
เปรียบเสมือนดอกกรรณิการ์ที่แย้มบานน้อมลง
เหมือนดังนางอัปสรที่เที่ยวไปในภพชั้นดาวดึงส์
หรือเหมือนสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :396 }