เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1359] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์
ปรึกษากับพระชายา ตรัสคำนี้ว่า
[1360] “ปุณณกยักษ์นี้นั้นมาขอลูกอิรันทดีกับเรา
เราจะให้ลูกอิรันทดีผู้เป็นที่รักของเราแก่ปุณณกยักษ์นั้น
เพราะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจเป็นจำนวนมากหรือ”
(นางนาควิมลามเหสีกราบทูลว่า)
[1361] “ปุณณกยักษ์ไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเรา
เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจ
แต่ถ้าปุณณกยักษ์จะพึงได้หทัยของบัณฑิต
นำมาในนาคพิภพนี้ได้โดยชอบธรรม
เขาจะพึงได้ลูกสาวของเราเพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจนั้น
หม่อมฉันไม่ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งกว่านี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1362] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จออกจากนิเวศน์
ตรัสเรียกปุณณกยักษ์มาแล้วตรัสดังนี้ว่า
[1363] “ท่านไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเรา
เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจ
ถ้าท่านได้หทัยของบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้ได้โดยชอบธรรม
ท่านจะพึงได้ลูกสาวของเราเพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจนั้น
เราไม่ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านี้”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1364] “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐในโลกนี้
คนบางคนย่อมเรียกคนใดว่าเป็นบัณฑิต
คนอีกพวกหนึ่งกลับเรียกคนนั้นนั่นแหละว่าเป็นพาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :394 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
ในเรื่องนี้ คนทั้งหลายยังกล่าวแย้งกันอยู่
ขอพระองค์ได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์
พระองค์ทรงเรียกใครเล่าว่า เป็นบัณฑิต”
(พญานาควรุณตรัสว่า)
[1365] “บัณฑิตชื่อว่าวิธุระ ผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรม
แก่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ถ้าท่านได้ยินได้ฟังมาแล้ว
ขอท่านจงไปนำบัณฑิตนั้นมา
ครั้นท่านได้มาโดยชอบธรรมแล้ว
นางอิรันทดีจงเป็นผู้บำเรอเท้า (ภรรยา) ของท่านเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1366] ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้สดับพระดำรัสของท้าววรุณนาคราชนี้แล้ว
ก็ยินดียิ่งนัก ลุกขึ้นแล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตน
ผู้อยู่ในที่นั้นนั่นแหละว่า
“เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มาที่นี้นั่นแหละให้ได้
[1367] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง 2 ข้างประดับด้วยทอง
มีกีบหุ้มแล้วด้วยแก้วมณีแดง
มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า)
[1368] “ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว
จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว
ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา
เหาะไปในอากาศกลางหาว
[1369] ปุณณกยักษ์นั้นกำหนัดด้วยกามราคะ
กำลังปรารถนานางอิรันทดีนาคกัญญา
ไปกราบทูลท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศเป็นใหญ่แห่งภูตว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :395 }