เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
(นางนาคอิรันทดีผู้ธิดากราบทูลว่า)
[1349] “ข้าแต่พระบิดา เหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงซบเซาอยู่
พระพักตร์ของพระองค์เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ
ข้าแต่พระบิดาผู้เป็นอิสราธิบดี เป็นที่เกรงขามของศัตรู
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงทุกข์พระทัย
ขออย่าทรงเศร้าโศกเลย พระเจ้าข้า”
(พญานาควรุณตรัสว่า)
[1350] “อิรันทดีลูกรัก มารดาของเจ้าปรารถนาซึ่งดวงหทัย
ของวิธุรบัณฑิต เพราะวิธุรบัณฑิตยากที่ใครจะพบได้
ใครเล่าจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้
[1351] เจ้าจงเที่ยวไปแสวงหาสามี
ผู้ซึ่งจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้”
นางนาคมาณวิกานั้นได้สดับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว
มีจิตชุ่มด้วยกิเลสออกไปเที่ยวตลอดคืน
(นางนาคอิรันทดีกล่าวว่า)
[1352] “คนธรรพ์ รากษส นาค กินนร หรือมนุษย์พวกไหน
คนไหนเป็นบัณฑิตสามารถจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงได้
เขาจักเป็นสามีของเราตลอดกาล”
(เสนาบดียักษ์กล่าวว่า)
[1353] “นางผู้มีนัยน์ตาหาที่ติมิได้ ขอเธอจงเบาใจเถิด
เราจักเป็นผู้เลี้ยงดูเธอ
เพราะปัญญาของเราสามารถจะนำเนื้อดวงหทัย
ของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้
ขอจงเบาใจเถิด เธอจักเป็นภรรยาของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :392 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) โทหฬกัณฑ์
[1354] นางอิรันทดีผู้มีใจกำหนัดรักใคร่
เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมาในภพก่อน
ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ว่า
“มาเถิดท่าน เราจักไปในสำนักของพระบิดาของฉัน
พระบิดาของฉันนี่แหละจักตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ท่าน”
[1355] นางอิรันทดีประดับตกแต่งนุ่งผ้าเรียบร้อยแล้ว
ทัดทรงดอกไม้ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์
จูงมือปุณณกยักษ์เข้าไปยังสำนักของพระบิดา
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1356] “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นาค
ขอพระองค์ได้โปรดสดับถ้อยคำของข้าพระองค์
ขอพระองค์จงทรงรับสินสอดตามสมควร
ข้าพระองค์ปรารถนาพระนางอิรันทดี
ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระองค์
ได้อยู่ร่วมกับพระนางอิรันทดีเถิด
[1357] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์โปรดได้ทรงพระกรุณารับสินสอดนั้น
คือ ช้าง 100 เชือก ม้า 100 ตัว
รถที่เทียมด้วยม้าอัสดร 100 คัน
เกวียนบรรทุกของเต็มด้วยรัตนะต่าง ๆ 100 เล่ม
ขอได้โปรดพระราชทานพระราชธิดาอิรันทดีให้แก่ข้าพระองค์เถิด”
(พญานาคตรัสว่า)
[1358] “ขอท่านจงรออยู่จนกว่าเราจะได้ปรึกษาหารือ
กับบรรดาญาติ มิตร และเพื่อนที่สนิทเสียก่อน
(เพราะ)กรรมที่กระทำลงไปโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกันนั้น
ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :393 }