เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1321] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ 1,000 กับมหาบพิตร
ผู้กำลังปีนขึ้นต้นงิ้วนั้น
ก้าวไปเหยียบใบเหล็กอันคมเหมือนดาบ
ก็ถูกดาบอันคมนั้นบาด ตัวขาดกระจัดกระจาย
เลือดไหลโทรมอยู่ในปรโลกได้
[1322] ทรัพย์จำนวนนั้น ใครเล่าจะพึงไปขอกับมหาบพิตร
ผู้เดินหนีออกจากขุมนรกไม้งิ้วมีใบเป็นดาบ
พลัดตกลงไปสู่แม่น้ำเวตตรณีได้
[1323] แม่น้ำเวตตรณีมีน้ำเป็นกรด หยาบแข็ง
เผ็ดร้อน ข้ามได้ยาก
ปกคลุมไปด้วยบัวเหล็กมีใบคมไหลไปอยู่
[1324] ทรัพย์จำนวนนั้น ใครเล่าจะไปขอกับมหาบพิตร
ผู้มีตัวขาดกระจัดกระจาย มีเลือดเปรอะเปื้อน
ลอยอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี ที่นั้นหาที่เกาะมิได้
(พระราชาตรัสว่า)
[1325] ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด
ข้าพเจ้าหลงสำคัญผิด จึงไม่รู้จักทิศ ท่านฤๅษี
ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาภาษิตของท่านแล้ว
ร้อนใจ เพราะกลัวมหาภัย
[1326] ท่านฤๅษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
เหมือนน้ำสำหรับแก้กระหายในเวลาร้อน
เหมือนเกาะเป็นที่พึ่งของพวกคนที่มีเรืออับปาง
หาที่พึ่งไม่ได้ในมหาสมุทร
และเหมือนดวงประทีปสำหรับส่องทาง
ของพวกคนผู้เดินทางมืดเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :387 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1327] ท่านฤๅษี ขอท่านจงสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า
ในกาลก่อน ข้าพเจ้าได้ทำความผิดไว้ส่วนเดียว
ท่านนารทะ ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า
โดยที่ข้าพเจ้าจะไม่พึงตกไปในนรกด้วยเถิด
(นารทฤๅษีกราบทูลว่า)
[1328] พระราชา 6 พระองค์นี้ คือ (1) ท้าวธตรัฏฐะ
(2) ท้าวเวสสามิตะ (3) ท้าวอัฏฐกะ
(4) ท้าวยมทัคคิ (5) ท้าวอุสินนระ
(6) ท้าวสิวิราช ได้ทรงบำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายแล้ว
[1329] พระราชาเหล่านั้นและพระราชาเหล่าอื่นเสด็จไปสู่สวรรค์ฉันใด
มหาบพิตรผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตรก็ฉันนั้น
จงทรงเว้นอธรรมแล้วทรงประพฤติธรรมเถิด
[1330] ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศในพระราชนิเวศน์
และภายในพระนครว่า ใครหิว ใครกระหาย
ใครปรารถนาดอกไม้ ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้
ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม ก็จงนุ่งห่มผ้าสีต่าง ๆ ตามปรารถนาเถิด
[1331] ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้าที่อ่อนนุ่ม สวยงาม
ในทางเปลี่ยว ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศไปดังนี้
ในพระนครของพระองค์ทั้งในเวลาเย็นและเวลาเช้า
[1332] มหาบพิตรจงอย่าใช้งานคนแก่ โคแก่
และม้าแก่เหมือนแต่ก่อน
และจงพระราชทานเครื่องบริหารแก่คนที่เป็นกำลัง
ซึ่งเคยได้ทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด
[1333] มหาบพิตรจงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ
มีใจเป็นนายสารถี กระปรี้กระเปร่า
มีอวิหิงสาเป็นเพลา มีปริจาคะเป็นหลังคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :388 }