เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1286] หญิงหรือชายก็ตาม ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ
เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน
[1287] มนุษย์เหล่าใดในชีวโลกนี้
เป็นผู้มียศ มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ทุกอย่าง
มนุษย์เหล่านั้นได้สั่งสมกรรมดีไว้ในปางก่อนโดยไม่ต้องสงสัย
สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นของของตน
[1288] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริ
ด้วยพระองค์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
พระสนมผู้ทรงโฉมงามปานดังนางเทพอัปสร
ประดับประดาคลุมกายด้วยข่ายทองเหล่านี้
พระองค์ทรงได้มาเพราะผลแห่งกรรมอะไร”
[1289] พระนางรุจาราชกัญญาทรงให้พระเจ้าอังคติ
พระชนกนาถพอพระทัย พระราชกุมารีผู้มีวัตรดีงาม
ทรงกราบทูลทางแห่งสุคติแก่พระชนกนาถพระองค์นั้นแล้ว
เหมือนบอกทางให้แก่คนหลงทาง
และได้กราบทูลข้อธรรมถวายด้วยประการฉะนี้
[1290] ต่อมา นารทมหาพรหมตรวจดูชมพูทวีป
ได้เห็นพระเจ้าอังคติ จึงมาจากพรหมโลกถึงถิ่นมนุษย์
[1291] ลำดับนั้น นารทมหาพรหมได้ยืนอยู่ที่ปราสาท
เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าวิเทหะ
พระนางรุจาราชกัญญาได้เห็นนารทฤๅษีนั้น
มาถึงที่แล้ว จึงนมัสการ
[1292] ครั้งนั้น พระราชาทรงมีพระทัยหวาดกลัว
เสด็จลงจากราชอาสน์ เมื่อจะตรัสถามนารทฤๅษี
จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :381 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1293] “ท่านผู้มีผิวงามดังเทวดา
ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศดังดวงจันทร์
ท่านมาจากที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าถามแล้ว
ขอท่านจงบอกนามและโคตรแก่ข้าพเจ้า
คนทั้งหลายในมนุษยโลกย่อมรู้จักท่านได้อย่างไร”
(นารทฤๅษีกราบทูลว่า)
[1294] อาตมภาพมาจากเทวโลก ณ บัดนี้เอง
ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศดังดวงจันทร์
มหาบพิตรตรัสถามแล้ว
อาตมภาพขอถวายพระพรนามและโคตรให้ทรงทราบ
คนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยนามว่านารทะ
และโดยโคตรว่า กัสสปะ
(พระราชาตรัสถามว่า)
[1295] สัณฐานของท่าน การที่ท่านเหาะไป
และยืนอยู่บนอากาศได้น่าอัศจรรย์
ท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงมีฤทธิ์เช่นนี้
(นารทฤๅษีทูลตอบว่า)
[1296] คุณธรรม 4 ประการนี้ คือ (1) สัจจะ (2) ธรรม
(3) ทมะ (4) จาคะ1 อาตมภาพได้ทำไว้แล้วในภพก่อน
เพราะคุณธรรมที่อาตมภาพได้เสพมาดีแล้วนั้นแหละ
อาตมภาพจึงไปได้เร็วทันใจตามความปรารถนา

เชิงอรรถ :
1 คุณธรรม 4 ประการนี้ มีอธิบาย ดังนี้ สัจจะ หมายถึงวจีสัจที่เว้นจากมุสาวาท ธรรม หมายถึงธรรม
คือสุจริต 3 และธรรมคือการเพ่งกสิณบริกรรม (การปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน) ทมะ หมายถึงการฝึก
อินทรีย์ (สำรวมทวาร 6) จาคะ หมายถึงการสละกิเลสและการสละไทยธรรม (ขุ.ชา.อ. 10/1298/164)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :382 }