เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1278] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันนั้น
ได้รับสักการะบูชาเป็นนิตย์มาตลอด 7 ชาติ
หม่อมฉันไม่พ้นจากความเป็นหญิงตลอด 6 ชาติ
[1279] ข้าแต่สมมติเทพ ชาติที่ 7
หม่อมฉันจักได้เกิดเป็นเทวดาผู้ชาย
คือ เป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา
[1280] แม้วันนี้ เหล่านางอัปสรผู้เป็นปริจาริกาของหม่อมฉัน
ยังช่วยกันร้อยดอกไม้เป็นพวงมาลัยอยู่ในพระอุทยานนันทวัน
เทพบุตรนามว่าชวะ ยังรับพวงมาลัยของหม่อมฉันอยู่
[1281] 16 ปีในมนุษย์นี้เป็นเหมือนครู่หนึ่งของเทวดา
100 ปีของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดา
[1282] ดังที่ได้กราบทูลมานี้ กรรมทั้งหลายติดตามไปได้
แม้ตั้งอสงไขยชาติ
ด้วยว่ากรรมจะดีหรือชั่วก็ตามย่อมไม่พินาศไป
[1283] บุคคลใดปรารถนาจะเป็นชายทุก ๆ ชาติไป
บุคคลนั้นพึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย
เหมือนคนล้างเท้าสะอาดแล้วเว้นเปือกตม
[1284] หญิงใดปรารถนาจะเป็นชายทุก ๆ ชาติไป
หญิงนั้นก็พึงยำเกรงสามีเหมือนนางเทพอัปสร
ผู้เป็นปริจาริกายำเกรงพระอินทร์
[1285] ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุ ยศ และสุขทิพย์
ผู้นั้นพึงเว้นบาปทั้งหลายแล้วประพฤติธรรม 3 อย่าง1เถิด

เชิงอรรถ :
1 ธรรม 3 อย่าง ในที่นี้หมายถึงสุจริต 3 ที่เป็นไปทางกาย วาจา ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :380 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1286] หญิงหรือชายก็ตาม ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ
เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน
[1287] มนุษย์เหล่าใดในชีวโลกนี้
เป็นผู้มียศ มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ทุกอย่าง
มนุษย์เหล่านั้นได้สั่งสมกรรมดีไว้ในปางก่อนโดยไม่ต้องสงสัย
สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นของของตน
[1288] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริ
ด้วยพระองค์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
พระสนมผู้ทรงโฉมงามปานดังนางเทพอัปสร
ประดับประดาคลุมกายด้วยข่ายทองเหล่านี้
พระองค์ทรงได้มาเพราะผลแห่งกรรมอะไร”
[1289] พระนางรุจาราชกัญญาทรงให้พระเจ้าอังคติ
พระชนกนาถพอพระทัย พระราชกุมารีผู้มีวัตรดีงาม
ทรงกราบทูลทางแห่งสุคติแก่พระชนกนาถพระองค์นั้นแล้ว
เหมือนบอกทางให้แก่คนหลงทาง
และได้กราบทูลข้อธรรมถวายด้วยประการฉะนี้
[1290] ต่อมา นารทมหาพรหมตรวจดูชมพูทวีป
ได้เห็นพระเจ้าอังคติ จึงมาจากพรหมโลกถึงถิ่นมนุษย์
[1291] ลำดับนั้น นารทมหาพรหมได้ยืนอยู่ที่ปราสาท
เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าวิเทหะ
พระนางรุจาราชกัญญาได้เห็นนารทฤๅษีนั้น
มาถึงที่แล้ว จึงนมัสการ
[1292] ครั้งนั้น พระราชาทรงมีพระทัยหวาดกลัว
เสด็จลงจากราชอาสน์ เมื่อจะตรัสถามนารทฤๅษี
จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :381 }