เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1218] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
พระเจ้าอังคติรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์
ในสถานที่ประทับสำราญของพระองค์แล้ว
ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[1219] “ขอเหล่าอำมาตย์จงจัดกามคุณทั้งหลายให้แก่เราทุกเมื่อ
ในจันทกปราสาทของเรา
เมื่อราชการลับถูกเปิดเผยขึ้น
ใคร ๆ อย่าได้เข้ามาหาเรา
[1220] อำมาตย์ฉลาดในราชกิจ 3 นาย คือ
(1) วิชัยอำมาตย์ (2) สุนามอำมาตย์
(3) อลาตเสนาบดี จงนั่งพิจารณาข้อราชการเหล่านี้”
[1221] พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสดังนี้แล้ว
จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
“ขอท่านทั้งหลายจงใส่ใจในกามคุณให้มาก
และอย่าได้ไปยุ่งในกิจการอะไร ๆ
ในพวกพราหมณ์และคหบดีเลย”
[1222] ตั้งแต่วันนั้นมา 2 สัปดาห์
พระราชกัญญาพระนามว่ารุจา
ผู้เป็นพระธิดาเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหะ
ได้ตรัสกับพระพี่เลี้ยงว่า
[1223] “ขอพวกท่านจงช่วยกันประดับประดาให้ฉันด้วย
และขอให้เพื่อนหญิงของฉันจงช่วยกันประดับ
พรุ่งนี้ 15 ค่ำเป็นวันทิพย์1
ฉันจะไปเฝ้าพระบิดา”

เชิงอรรถ :
1 วันทิพย์ หมายถึงวันที่เทวดาประชุมกันประดับตกแต่งร่างกาย (ขุ.ชา.อ. 10/1223/144)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :372 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1224] พระพี่เลี้ยงทั้งหลายได้จัดมาลัย แก่นจันทน์
แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา และผ้าสีต่าง ๆ
ที่มีค่ามากมาถวายแด่พระนางรุจานั้น
[1225] หญิงเป็นอันมากแวดล้อมพระนางรุจาราชธิดา
ผู้มีพระฉวีวรรณงามนั้น ผู้ประทับนั่งอยู่บนพระภัทรบิฐ1
สวยงามยิ่งนักดังนางเทพกัญญา
[1226] พระนางรุจาราชธิดานั้นทรงประดับสรรพาภรณ์
เสด็จไป ณ ท่ามกลางเพื่อนหญิง
เหมือนสายฟ้าแลบออกจากเมฆ
ได้เสด็จเข้าสู่จันทกปราสาท
[1227] ครั้นเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหะ
ถวายบังคมพระบิดาผู้ทรงยินดีในคำแนะนำแล้ว
ประทับอยู่บนพระภัทรบิฐอันขจิตด้วยทอง ณ ที่อันสมควร
[1228] พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นพระนางรุจา
ประทับอยู่ท่ามกลางพระสหายหญิง
ซึ่งเป็นเหมือนสมาคมของนางเทพอัปสร
จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า
[1229] “ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาท
และสระโบกขรณีในภายในอุทยานอยู่หรือ
คนเหล่านั้นยังนำของเสวยเป็นอันมาก
มาให้ลูกหญิงอยู่เสมอหรือ
[1230] ลูกหญิงและเพื่อนหญิงของลูก
ยังเก็บดอกไม้หลายชนิดมาร้อยเป็นพวงมาลัย
ทำเรือนหลังเล็ก ๆ แต่ละหลังเล่นเพลิดเพลินอยู่หรือ

เชิงอรรถ :
1 ภัทรบิฐ หมายถึงตั่งทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :373 }