เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [19.สัฏฐินิบาต] 1.โสณกชาดก (529)
(พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า แสดงความเจริญของสมณะแด่พระราชาว่า)
[12] ความเจริญข้อที่ 1 ย่อมมีแม้ในกาลทุกเมื่อ
แก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน
คือ ข้าวเปลือกไม่เข้าไป(มี)อยู่ในฉาง
ในหม้อ ในกระเช้าของภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้นแสวงหาอาหารสำเร็จ
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารนั้น เป็นผู้มีวัตรดีงาม
[13] ความเจริญข้อที่ 2 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่ไม่มีโทษ
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[14] ความเจริญข้อที่ 3 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่เย็น
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[15] ความเจริญข้อที่ 4 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ความเกี่ยวข้องย่อมไม่มี
แก่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว เที่ยวจาริกไปในแคว้น
[16] ความเจริญข้อที่ 5 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อบ้านเมืองถูกไฟไหม้
ท่านไม่มีอะไรจะถูกเผาไหม้
[17] ความเจริญข้อที่ 6 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อแคว้นถูกโจรปล้น
ท่านก็ไม่มีอะไรจะให้โจรปล้น
[18] ความเจริญข้อที่ 7 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ หนทางใดที่พวกโจรยึดครองก็ดี
หนทางอื่นใดที่มีอันตรายก็ดี
ภิกษุผู้มีวัตรดีงาม ถือบาตรและจีวรไปได้อย่างปลอดภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :37 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [19.สัฏฐินิบาต] 1.โสณกชาดก (529)
[19] ความเจริญข้อที่ 8 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ จะหลีกไปยังทิศใด ๆ
ก็ไปยังทิศนั้น ๆ ได้อย่างไม่ต้องห่วงใย
(พระราชาตรัสว่า)
[20] พระคุณเจ้าโสณกะผู้เห็นภัย
พระคุณเจ้าสรรเสริญความเจริญของภิกษุเหล่านั้นมากมาย
แต่โยมยังติดอยู่ในกามทั้งหลาย จะทำอย่างไรได้เล่า
[21] กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ โยมก็พึงพอใจ
ถึงแม้กามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ โยมก็พึงพอใจ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำอย่างไรหนอโยมจึงจะได้กามทั้ง 2 ในโลก
(พระปัจเจกพุทธเจ้ากราบทูลว่า)
[22] คนทั้งหลายผู้ติดอยู่ในกาม ยินดีในกาม
หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
กระทำบาปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ
[23] ส่วนคนเหล่าใดละกามทั้งหลาย
เป็นผู้ออกแล้วจากกาม ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
บรรลุถึงความเป็นสมาธิอันแน่วแน่
คนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
[24] ขอถวายพระพร พระเจ้าอรินทมะ
อาตมภาพจักยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
โปรดสดับข้ออุปมานั้น
บัณฑิตบางพวกในโลกนี้
ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยการเปรียบเทียบ
[25] กาตัวหนึ่งมีปัญญาน้อยเพราะไม่มีความคิด
เห็นซากศพถูกแม่น้ำคงคาพัดลอยไปในห้วงน้ำใหญ่ จึงคิดว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :38 }