เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1189] สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ทัดเทียมกันหมด
ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี
กำลังหรือความเพียรไม่มี
บุรุษผู้มีความหมั่นจะได้รับผลแต่ที่ไหน
สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดตามกันมาเหมือนเรือพ่วงตามเรือไป
[1190] สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรจะได้
ในข้อนั้น ผลทานจะมีแต่ที่ไหน
ข้าแต่สมมติเทพ ผลทานไม่มี
เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร1 พระเจ้าข้า
[1191] พวกคนพาลบัญญัติทาน พวกบัณฑิตรับทาน
พวกคนพาลถือตนว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้ไร้อำนาจ
ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย
[1192] รูปกายอันเป็นที่รวม 7 ประการนี้ คือ
(1) ดิน (2) น้ำ (3) ไฟ (4) ลม
(5) สุข (6) ทุกข์ (7) ชีวิต เป็นของเที่ยง
ไม่ขาดสูญ ไม่กำเริบ
ความขาดสูญไม่มีแก่สัตว์เหล่าใด
รูปกาย 7 ประการนี้ย่อมมีแก่สัตว์เหล่านั้น
[1193] ผู้ฆ่า ผู้ตัด หรือใคร ๆ ผู้ถูกฆ่า ก็ไม่มี
ศัสตราทั้งหลายสอดแทรกเข้าไป
ในระหว่างรูปกาย 7 ประการนี้

เชิงอรรถ :
1 เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร หมายถึงเมื่อผลทานไม่มีอย่างนี้ ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นคนโง่ก็ยังให้
ทานอยู่ แต่เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร โดยสรุปอาชีวกกราบทูลชี้แจงว่า คนผู้นั้นไม่เชื่อว่าให้ทาน
ด้วยอำนาจ ด้วยกำลังของตน แต่สำคัญว่า ผลทานมีจึงให้ทาน เพราะเชื่อคนโง่พวกอื่น (ขุ.ชา.อ.
10/1190/139)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :368 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1194] ผู้ใดตัดศีรษะของผู้อื่นด้วยดาบที่ลับแล้ว
ผู้นั้นไม่ชื่อว่าตัดรูปกายเหล่านั้น
ในการทำเช่นนั้น ผลบาปจะมีแต่ที่ไหน
[1195] สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร 84 มหากัป
ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น
แม้สำรวมดีแล้วก็บริสุทธิ์ไม่ได้
[1196] เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น
แม้จะประพฤติความดีมากมายก็บริสุทธิ์ไม่ได้
แม้ถ้าทำบาปไว้มากมายก็ไม่ล่วงพ้นขณะนั้นไปได้
[1197] ในวาทะของเราทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ตามลำดับ
เมื่อถึง 84 กัป พวกเราย่อมไม่ล่วงเลยเขตที่แน่นอนนั้น
เหมือนสาครไม่ล้นฝั่งไป”
[1198] อลาตเสนาบดีได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรแล้ว
ได้กล่าวดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าชอบใจ
คำของท่านผู้เจริญตามที่กล่าวไว้
[1199] แม้ข้าพเจ้าเองก็ระลึกชาติก่อนที่ตนท่องเที่ยวไปได้
คือ ในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสี
ที่เป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นพรานฆ่าโคชื่อปิงคละ
[1200] ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสีที่เป็นเมืองมั่งคั่งแล้ว
ได้ทำบาปกรรมไว้เป็นอันมาก คือ ได้ฆ่าสัตว์มีชีวิต
ได้แก่ กระบือ สุกร แพะเป็นจำนวนมาก
[1201] จุติจากชาตินั้นแล้วมาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริบูรณ์นี้
บาปไม่มีผลแน่นอน ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปตกนรก”
[1202] ครั้งนั้น ในกรุงมิถิลานี้ ได้มีคนเข็ญใจเป็นทาสชื่อว่าวีชกะ
กำลังรักษาอุโบสถ เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :369 }