เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [19.สัฏฐินิบาต] 1.โสณกชาดก (529)
[5] ยืนต้นประสานอาศัยกันและกัน
เสมอเหมือนกลุ่มเมฆ น่ารื่นรมย์
เมื่อชาวโลกมีความยึดมั่น ถูกแผดเผาอยู่
โสณกะไม่มีความยึดมั่น เป็นผู้ดับแล้ว
เพ่งฌานอยู่ ณ โคนต้นรังเหล่านั้น
[6] ลำดับนั้นแล พระราชาได้เสด็จไปพร้อมด้วยเสนา 4 เหล่า
ตรัสสั่งให้ปรับหนทางให้เรียบเสมอแล้ว
ได้เสด็จไปจนถึงที่อยู่ของโสณกปัจเจกพุทธะ
[7] ครั้นเสด็จถึงภูมิภาคพระอุทยาน
จึงเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่
ทอดพระเนตรเห็นโสณกปัจเจกพุทธะ
ผู้นั่งสงบเย็น ในเมื่อชาวโลกเร่าร้อนอยู่
(พระราชาตรัสว่า)
[8] ภิกษุนี้เป็นคนเข็ญใจหนอ มีศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ
ไม่มีแม่ ไม่มีพ่อ เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[9] พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้าสดับพระดำรัสนี้แล้ว
จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร
บุคคลผู้สัมผัสธรรมด้วยกายไม่จัดว่าเป็นคนเข็ญใจ
[10] บุคคลใดในโลกนี้รังเกียจธรรม ประพฤติตามอธรรม
บุคคลนั้นจัดว่าเป็นคนเข็ญใจ เป็นคนชั่ว
มีบาปติดตามไปในภายหน้า
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[11] โยมมีชื่อว่าอรินทมะ มหาชนรู้จักโยมว่าพระเจ้ากาสี
พระคุณเจ้าโสณกะ พระคุณเจ้าผู้เจริญ
มาถึงสถานที่นี้ จำวัดสบายหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :36 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [19.สัฏฐินิบาต] 1.โสณกชาดก (529)
(พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า แสดงความเจริญของสมณะแด่พระราชาว่า)
[12] ความเจริญข้อที่ 1 ย่อมมีแม้ในกาลทุกเมื่อ
แก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน
คือ ข้าวเปลือกไม่เข้าไป(มี)อยู่ในฉาง
ในหม้อ ในกระเช้าของภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้นแสวงหาอาหารสำเร็จ
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารนั้น เป็นผู้มีวัตรดีงาม
[13] ความเจริญข้อที่ 2 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่ไม่มีโทษ
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[14] ความเจริญข้อที่ 3 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่เย็น
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[15] ความเจริญข้อที่ 4 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ความเกี่ยวข้องย่อมไม่มี
แก่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว เที่ยวจาริกไปในแคว้น
[16] ความเจริญข้อที่ 5 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อบ้านเมืองถูกไฟไหม้
ท่านไม่มีอะไรจะถูกเผาไหม้
[17] ความเจริญข้อที่ 6 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อแคว้นถูกโจรปล้น
ท่านก็ไม่มีอะไรจะให้โจรปล้น
[18] ความเจริญข้อที่ 7 ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ หนทางใดที่พวกโจรยึดครองก็ดี
หนทางอื่นใดที่มีอันตรายก็ดี
ภิกษุผู้มีวัตรดีงาม ถือบาตรและจีวรไปได้อย่างปลอดภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :37 }