เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 7.จันทกุมารชาดก (544)
[987] ในพระราชวังมีเสียงระเบ็งเซ็งแซ่เป็นอันเดียวกัน
เพราะได้ยินคำว่า พระกุมาร พระกุมารี
และพระมเหสีจะถูกประหาร
(พระราชาตรัสว่า)
[988] ขอพวกท่านจงไปทูลพระกุมารทั้งหลาย
คือ จันทกุมาร สุริยกุมาร ภัททเสนกุมาร
สูรกุมาร และวามโคตตกุมารเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[989] ขอพวกเจ้าจงไปทูลพระกุมารีทั้งหลาย
คือ อุปเสนากุมารี โกกิลากุมารี
มุทิตากุมารี และนันทากุมารีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[990] อนึ่ง พวกเจ้าจงไปทูลพระนางวิชยา
พระนางเอราวดี พระนางเกศินี
และพระนางสุนันทาผู้เป็นมเหสีของเรา
ผู้ซึ่งประกอบด้วยลักษณะอันประเสริฐเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[991] พวกท่านจงไปบอกพวกคหบดี
คือ ปุณณมุขคหบดี ภัททิยคหบดี
สิงคาลคหบดี และวัฑฒคหบดีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :336 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 7.จันทกุมารชาดก (544)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[992] คหบดีเหล่านั้นมีบุตรและภรรยามาก
ต่างก็มาพร้อมกัน ณ ที่นั้น
ได้กราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์จงไว้จุก1แก่ข้าพระองค์ทั้งหมดเถิด
อีกอย่างหนึ่ง ขอให้ทรงประกาศพวกข้าพระองค์เป็นข้าทาสเถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[993] พวกท่านจงรีบนำช้างทั้งหลายของเรามา
คือ ช้างอภยังกร ช้างนาฬาคีรี
ช้างอัจจุคคตะ ช้างวรุณทันตะ
ช้างเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[994] พวกท่านจงรีบไปนำม้าอัสดรของเรามา
คือ ม้าเกศี ม้าสุรามุขะ ม้าปุณณกะ ม้าวินตกะ
ม้าเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[995] ขอพวกท่านจงรีบไปนำเอาโคอุสภะของเรามา
คือ โคยูถปติ โคอโนชะ โคนิสภะ และโคควัมปติ
จงต้อนโคเหล่านั้นทั้งหมดเข้าเป็นหมู่
เราจักบูชายัญ จักให้ทาน
[996] พวกท่านจงตระเตรียมยัญทุกอย่างไว้
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ
พวกท่านจงบังคับเหล่ากุมารมาว่า
จงรื่นรมย์ตลอดราตรีนี้เถิด

เชิงอรรถ :
1 ไว้จุก หมายถึงทำให้เป็นผู้รับใช้ ทำให้เป็นทาส (ขุ.ชา.อ. 10/992/94)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :337 }