เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 7.จันทกุมารชาดก (544)
7. จันทกุมารชาดก1 (544)
ว่าด้วยจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี
[982] พระเจ้าเอกราช ผู้มีกรรมหยาบช้า
ประทับอยู่ในกรุงบุปผวดี
ท้าวเธอตรัสถามขัณฑหาลปุโรหิต
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ผู้เป็นคนหลงว่า
[983] ท่านพราหมณ์ ท่านฉลาดในสุจริตธรรมและอาจารวินัย
ขอจงบอกทางสวรรค์แก่เรา
อย่างที่นรชนทำบุญแล้ว จากโลกนี้จะไปสู่สุคติภพเถิด
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[984] ข้าแต่สมมติเทพ เหล่านรชนให้ทานยิ่งกว่าทาน
ฆ่าคนที่ไม่น่าจะฆ่า ทำบุญแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ได้อย่างนี้
(พระราชาตรัสว่า)
[985] ก็ทานที่ยิ่งกว่าทานนั้นคืออะไร
และคนจำพวกไหนเป็นผู้ไม่น่าจะฆ่าในโลกนี้
ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา
เราจักบูชายัญ จักให้ทาน
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[986] ข้าแต่สมมติเทพ ควรบูชายัญด้วยพระราชโอรส
พระราชธิดา พระมเหสี ชาวนิคม โคอุสภราช
และม้าอาชาไนย อย่างละ 4
ควรบูชายัญด้วยของครบอย่างละ 4 พระเจ้าข้า

เชิงอรรถ :
1 พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภพระเทวทัตตรัสจันทกุมารชาดกซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า มี
พระราชาผู้ทรงทำกรรมหยาบช้า ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. 10/86)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :335 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 7.จันทกุมารชาดก (544)
[987] ในพระราชวังมีเสียงระเบ็งเซ็งแซ่เป็นอันเดียวกัน
เพราะได้ยินคำว่า พระกุมาร พระกุมารี
และพระมเหสีจะถูกประหาร
(พระราชาตรัสว่า)
[988] ขอพวกท่านจงไปทูลพระกุมารทั้งหลาย
คือ จันทกุมาร สุริยกุมาร ภัททเสนกุมาร
สูรกุมาร และวามโคตตกุมารเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[989] ขอพวกเจ้าจงไปทูลพระกุมารีทั้งหลาย
คือ อุปเสนากุมารี โกกิลากุมารี
มุทิตากุมารี และนันทากุมารีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[990] อนึ่ง พวกเจ้าจงไปทูลพระนางวิชยา
พระนางเอราวดี พระนางเกศินี
และพระนางสุนันทาผู้เป็นมเหสีของเรา
ผู้ซึ่งประกอบด้วยลักษณะอันประเสริฐเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[991] พวกท่านจงไปบอกพวกคหบดี
คือ ปุณณมุขคหบดี ภัททิยคหบดี
สิงคาลคหบดี และวัฑฒคหบดีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :336 }