เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[960] มนต์เหล่านี้พวกพราหมณ์แต่งขึ้นด้วยวาจา
แต่งขึ้น (และ) ยึดถือไว้ด้วยความโลภ
เข้าถึงท่วงทำนองของพวกพราหมณ์นักแต่งกาพย์
ยากที่จะปลดเปลื้องได้
จิตของพวกคนโง่ตั้งอยู่ด้วยอาการที่ไม่สม่ำเสมอ
คนไม่มีปัญญาจึงหลงเชื่อคำนั้น
[961] พราหมณ์หามีกำลังเยี่ยงลูกผู้ชาย
ดุจกำลังของราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองไม่
ความเป็นมนุษย์ของพราหมณ์เหล่านั้นพึงเห็นเหมือนของโค1
แต่ชาติพราหมณ์เหล่านั้นมีลักษณะไม่เสมอ
[962] ก็ถ้าพระราชาปกครองแผ่นดิน พร้อมทั้งอำมาตย์คู่ชีพ
และราชบริษัทผู้รับพระราชโองการ
ทรงชำนะหมู่ศัตรูลำพังพระองค์เอง
ประชาราษฎร์ของพระองค์นั้นก็จะพึงมีสุขอยู่เป็นนิตย์
[963] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
ถ้าไม่วินิจฉัยความแห่งมนต์และไตรเพทนั้น ก็ไม่รู้ได้
เหมือนทางที่ถูกน้ำท่วม
[964] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ
ทั้งหมดทีเดียวเป็นธรรมดาของวรรณะ 4 นั้น
[965] พวกคหบดีใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดิน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์และข้าวเปลือกฉันใด
แม้หมู่พราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทก็ฉันนั้น
ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดินในวันนี้

เชิงอรรถ :
1 พึงเห็นเหมือนของโค อธิบายว่า ชาติพราหมณ์เหล่านั้นนั่นแหละเหมือนกับของโค เพราะมีปัญญาทราม
แต่มีลักษณะไม่เสมอ เพราะมีรูปร่างสัณฐานต่างกับโค (ขุ.ชา.อ. 10/961/81)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :332 }