เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[942] พวกคนพาลยื่นหน้าพูดนำไปที่เสาบูชายัญซึ่งเป็นที่ผูกสัตว์
ด้วยการพรรณนาอย่างวิจิตรว่า เสายัญนี้จักให้
สิ่งที่น่าใคร่แก่เจ้าในโลกอื่นในสัมปรายภพแน่นอน
[943] ถ้าบุคคลจะพึงได้แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ข้าวเปลือก
ทรัพย์ เงิน ทอง ที่เสายัญทั้งที่ไม้แห้งและไม้สด
ถ้าเสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างในไตรทิพย์ได้
หมู่พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพทเท่านั้นจึงควรบูชายัญ
ผู้ไม่ใช่พราหมณ์ก็ไม่ควรให้พราหมณ์บูชายัญให้เลย
[944] แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง
จักมีที่เสายัญ ที่ไม้แห้ง และไม้สดที่ไหน
เสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ที่ไหนเล่า
945] พราหมณ์เหล่านี้เป็นผู้โอ้อวด หยาบช้า
โง่เขลา โลภจัด ยื่นปากพูดนำไป
ด้วยการพรรณนาอย่างหยดย้อยต่าง ๆ ว่า
จงรับเอาไฟไป จงให้ทรัพย์แก่เรา
แต่นั้น ท่านจักมีความสุขในสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง
[946] พวกพราหมณ์พาคนเข้าไปโรงบูชาไฟแล้ว
ต่างก็ยื่นหน้าพูดนำไปด้วยการพรรณนาอย่างวิจิตรต่าง ๆ
ให้เขาโกนผม โกนหนวด และตัดเล็บ
ยังทรัพย์ของเขาให้สิ้นไปด้วยเวททั้งหลาย
[947] พวกพราหมณ์ผู้หลอกลวง แอบหลอกลวงได้คนหนึ่ง
ก็มาประชุมกินกันเป็นอันมาก เหมือนฝูงกาตอมนกเค้า
หลอกเอาจนเกลี้ยงแล้วเก็บไว้ที่บริเวณบูชายัญ
[948] พวกพราหมณ์ลวงผู้นั้นได้คนหนึ่งอย่างนี้แล้ว
ก็พากันมาเป็นอันมาก ใช้ความพยายามแล้วพยายามอีก
ล่อหลอกพรรณนาสิ่งที่มองไม่เห็น ปล้นเอาทรัพย์ที่มองเห็นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :329 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[949] เหมือนพวกราชบุรุษที่พระราชาสอนสั่งให้เก็บส่วย
ถือเอาทรัพย์ของพระราชาไป
อริฏฐะ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเหมือนโจร มิใช่สัตบุรุษ
เป็นผู้ควรจะฆ่าเสีย แต่ไม่มีใครฆ่าในโลก
[950] พวกพราหมณ์กล่าวว่า
ไม้ทองหลางเป็นแขนขวาของพระอินทร์
จึงตัดเอาไม้ทองหลางมาใช้ในยัญนี้
หากคำนั้นเป็นจริง พระอินทร์ก็แขนขาด
เพราะเหตุไร พระอินทร์ชนะพวกอสูรด้วยกำลังแขนนั้นได้
[951] หากคำนั้นแหละเป็นเท็จ
พระอินทร์ก็ยังมีอวัยวะสมบูรณ์
เป็นเทวดาชั้นดีเยี่ยม ไม่มีใครฆ่า แต่กำจัดพวกอสูรได้
มนต์ของพราหมณ์เหล่านี้เปล่าประโยชน์
นี้เป็นการลวงกันที่เห็นอยู่ในโลกนี้
[952] ภูเขามาลาคีรีก็ดี ภูเขาหิมพานต์ก็ดี ภูเขาคิชฌกูฏก็ดี
ภูเขาสุทัศนะก็ดี ภูเขานิสภะก็ดี ภูเขากากเวรุก็ดี
ภูเขาเหล่านี้ และภูเขาใหญ่อื่น ๆ กล่าวกันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้สร้างไว้
[953] ชนทั้งหลายกล่าวกันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญเอาอิฐเช่นใดมาสร้างภูเขา
อิฐเช่นนั้นมิใช่ภูเขา ภูเขาเป็นอย่างหนึ่ง
ไม่หวั่นไหว เห็นได้ชัดว่าเป็นหิน
[954] ภูเขามิใช่อิฐแต่เป็นหินมานานแล้ว
เหล็กและโลหะย่อมไม่เกิดในอิฐนั้น
แต่เขาจะพรรณนาถึงยัญนี้ จึงกล่าวว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้สร้างไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :330 }