เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[931] คำของพวกพราหมณ์น่าหัวเราะเยาะ1
ไม่ควรสวด ไม่เป็นความจริง
พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำเท็จไว้ก่อน
เพราะเหตุแห่งสักการะ พราหมณ์เหล่านั้น
เมื่อลาภสักการะยังไม่ปรากฏขึ้น ก็ร้อยกรองยัญที่ชื่อว่า
“สันติธรรม” โยงเข้ากับการฆ่าสัตว์2 (บูชายัญ)
[932] พวกพราหมณ์ถือการสาธยาย (มนต์)
พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พวกแพศย์ยึดเกษตรกรรม และพวกศูทรยึดการรับใช้
วรรณทั้ง 4 นี้เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาแต่ละอย่าง
กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจได้สร้างขึ้นไว้
[933] ถ้าคำนี้จะพึงเป็นคำจริงเหมือนที่พวกพราหมณ์ได้กล่าวไว้
ผู้ที่มิใช่กษัตริย์ก็ไม่พึงได้ราชสมบัติ
ผู้ที่มิใช่พราหมณ์ก็ไม่พึงศึกษามนต์
คนนอกจากแพศย์ก็ไม่พึงทำเกษตรกรรม
และพวกศูทรก็ไม่พึงพ้นจากการรับใช้ผู้อื่น
[934] แต่เพราะคำนี้ไม่จริง เป็นคำเท็จ
ฉะนั้น พวกคนเหล่านี้จึงกล่าวเท็จทั้งนั้นเพราะเห็นแก่ท้อง3
พวกคนมีปัญญาน้อยย่อมเชื่อถือคำนั้น
พวกบัณฑิตย่อมพิจารณาเห็นคำนั้นด้วยตนเอง

เชิงอรรถ :
1 น่าหัวเราะเยาะ หมายความว่า ขึ้นชื่อว่า คำของพวกพราหมณ์ สมควรต้องหัวเราะเยาะ เพราะอด
ทนต่อความเพ่งพินิจ(ตรวจสอบ)ของบัณฑิตไม่ได้ (ขุ.ชา.อ. 10/931/71)
2 โยงเข้ากับการฆ่าสัตว์ หมายถึงพวกพราหมณ์โยงลาภสักการะซึ่งไม่ปรากฏประมาณเท่านี้เข้ากับหมู่สัตว์
แล้วเชื่อมสันติธรรม กล่าวคือ ลัทธิธรรมของตนอันประกอบด้วยการฆ่าสัตว์แล้วร้อยกรองคัมภีร์ชื่อ
ยัญญสูตรขึ้นไว้ (ขุ.ชา.อ. 10/931/71)
3 เพราะเห็นแก่ท้อง หมายถึงผู้อาศัยท้องเลี้ยงชีวิตหรือเพราะเหตุต้องการจะบรรจุให้เต็มท้อง (ขุ.ชา.อ.
10/934/72)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :327 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[935] เพราะพวกกษัตริย์ย่อมเก็บภาษีอากรจากพวกแพศย์
พวกพราหมณ์ก็ถือศัสตราเที่ยวฆ่าสัตว์
เพราะเหตุไร พระพรหมจึงไม่บันดาล
โลกที่ปั่นป่วนแตกต่างกันเช่นนั้นให้เที่ยงตรงเสียเล่า
[936] เพราะถ้าพระพรหมเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์
เพราะเหตุไร จึงทำโลกทั้งปวงให้มีทุกข์
เพราะเหตุไร จึงไม่บันดาลโลกทั้งปวงให้มีแต่ความสุข
[937] เพราะถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์
เพราะเหตุไร จึงชักจูงให้โลกทำแต่ความพินาศโดยไม่เป็นธรรม
เช่น มีมายา พูดเท็จ และมัวเมาเล่า
[938] อริฏฐะ เพราะถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ แต่เป็นเจ้าชีวิตที่ไม่ชอบธรรม
เมื่อธรรมมีอยู่ ก็ไม่จัดตั้งธรรม กลับจัดตั้งอธรรม
[939] ตั๊กแตน ผีเสื้อ งู แมลงภู่ หนอน
และแมลงวัน ใครฆ่าแล้วย่อมบริสุทธิ์
ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมของอนารยชน
ซึ่งเป็นธรรมที่ผิดของชาวกัมโพชะจำนวนมาก
[940] ก็ถ้าคนฆ่าผู้อื่นจะบริสุทธิ์ได้
แม้คนผู้ถูกฆ่าก็เข้าถึงแดนสวรรค์ได้
พวกพราหมณ์ก็ควรฆ่าพวกพราหมณ์
และพวกคนที่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้นด้วย
[941] พวกเนื้อ ปศุสัตว์ และโคแต่ละพวก
ไม่ได้อ้อนวอนเพื่อให้ฆ่าตนเองเลย
ล้วนแต่ดิ้นรนต้องการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
คนทั้งหลายย่อมนำสัตว์และปศุสัตว์เข้าผูกไว้ที่เสายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :328 }