เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[872] หมองู ท่านจงต่อสู้กับเราด้วยนาค
เราจักต่อสู้กับท่านด้วยลูกเขียด ในการรบของเรานั้น
เราทั้ง 2 จงพนันกันด้วยทรัพย์เพียง 5,000
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[873] มาณพ เราเท่านั้นเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์
ท่านเป็นคนจน ใครหนอจะเป็นคนค้ำประกันท่าน
และอะไรเป็นเดิมพันของท่านเล่า
[874] ส่วนข้าพเจ้ามีทั้งเดิมพัน และมีทั้งคนค้ำประกันเช่นนั้น
ในการขันสู้ของเราทั้ง 2 นั้น
เราทั้ง 2 จงพนันกันด้วยทรัพย์เพียง 5,000
(สุทัศนกุมารเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า)
[875] มหาบพิตร ขอพระองค์โปรดสดับคำของอาตมภาพ
ขอมหาบพิตรจงทรงพระเจริญ ขอมหาบพิตรผู้ทรงเกียรติ
จงทรงค้ำประกันทรัพย์ 5,000 ให้อาตมภาพเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[876] หนี้เป็นของตกค้างมาแต่บิดา หรือท่านก่อมันขึ้นมาเอง
ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไร
ท่านจึงขอทรัพย์ข้าพเจ้ามากมายอย่างนี้
(สุทัศนกุมารกราบทูลว่า)
[877] พราหมณ์อลัมปายนะปรารถนาจะต่อสู้กับอาตมภาพด้วยนาค
อาตมภาพจะให้ลูกเขียดกัดพราหมณ์อลัมปายนะ
[878] มหาบพิตรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
ขอเชิญพระองค์ผู้ทรงคับคั่งไปด้วยหมู่กษัตริย์
เสด็จออกไปทอดพระเนตรนาคในวันนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :318 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[879] มาณพ เรามิได้ดูหมิ่นท่านด้วยวาทศิลป์เลย
แต่ท่านมัวเมาศิลปะเกินไป จึงไม่ยำเกรงนาค
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[880] ท่านพราหมณ์ แม้อาตมาก็มิได้ดูหมิ่นท่านด้วยวาทศิลป์
แต่ท่านกล้าลวงประชาชนด้วยนาคที่ปราศจากพิษ
[881] ประชาชนจะพึงรู้เรื่องนี้เหมือนอาตมภาพรู้จักท่าน
ท่านจักไม่ได้แกลบสักกำมือหนึ่งเลย
ท่านจะได้ทรัพย์แต่ที่ไหนเล่า อลัมปายนะ
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[882] ท่านคนสกปรก ม้วนชฎา รุ่มร่าม
นุ่งห่มหนังสัตว์ขรุขระ เหมือนคนเงอะงะเข้ามายังบริษัท
ซึ่งดูหมิ่นนาคผู้มีพิษถึงอย่างนี้ว่าไม่มีพิษ
[883] ท่านเข้ามาใกล้แล้วนั่นแหละ จึงจะรู้นาคนั้นได้ว่า
เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง1 ข้าพเจ้าแน่ใจว่า
นาคตัวนี้จักทำท่านให้เป็นเหมือนกองเถ้าไปทันที
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[884] งูเรือน งูปลา งูเขียวต่างหากมีพิษ
แต่นาคหัวแดงไม่มีพิษเลย
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[885] ข้าพเจ้าได้ยินมาจากเหล่าพระอรหันต์
ผู้สำรวม ผู้บำเพ็ญตบะอย่างนี้ว่า
ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้แล้วย่อมไปสวรรค์
ท่านจงให้ทานเสียแต่ยังมีชีวิตเถิด ถ้าท่านมีความประสงค์จะให้

เชิงอรรถ :
1 เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง หมายถึงเต็มไปด้วยพิษร้ายแรง (ขุ.ชา.อ. 10/888/50)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :319 }