เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[828] ผู้ใดบอกนาคใหญ่ผู้มีเดชยากที่บุคคลจะล่วงเกินได้แก่เรา
เราจะให้แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้
อันเป็นเหมือนรุ่งเรืองด้วยเดชแก่ผู้นั้นไป
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[829] ครุฑตัวประเสริฐหรืออะไรหนอ
แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาแสวงหานาค
ประสงค์จะนำไปเป็นภักษาของตน
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[830] ท่านพราหมณ์ เรามิได้เป็นพญาครุฑ
เราไม่เคยเห็นครุฑ เราเป็นผู้สนใจด้วยงูพิษ
ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า เป็นหมองู
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[831] ท่านมีกำลังอะไร มีศิลปะอะไร
ท่านเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนในเรื่องอะไร
จึงไม่ยำเกรงนาค
(พราหมณ์อลัมปายนะนั้นเมื่อจะแสดงพลังของตน จึงกล่าวว่า)
[832] ครุฑมาบอกวิชาหมองูอย่างยอดเยี่ยม
แก่ฤๅษีโกสิยโคตรผู้อยู่ป่าประจำ
ประพฤติตบะมาเป็นเวลานาน
[833] เราเข้าไปหาฤๅษีตนหนึ่งบรรดาฤๅษี
ผู้บำเพ็ญตนอยู่ในระหว่างภูเขา
ได้บำรุงท่านด้วยความเคารพ
มิได้เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :312 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[834] ในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญวัตรและพรหมจรรย์
เป็นผู้มีโชค เมื่อได้สมาคมกับเรา
จึงสอนมนต์ทิพย์ให้แก่เราด้วยความรัก
[835] เราได้รับการสนับสนุนในมนต์นั้น จึงไม่กลัวนาค
เราเป็นอาจารย์ของพวกหมอขจัดพิษ
ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า อลัมปายนะ
(พราหมณ์เนสาทะได้ฟังดังนั้น เมื่อปรึกษากับบุตร จึงกล่าวว่า)
[836] พ่อโสมทัต พวกเรารับแก้วมณีไว้สิ เจ้าจงเข้าใจ
เราทั้ง 2 อย่าละสิริที่มาถึงตนด้วยอาชญาตามความชอบใจสิ
(โสมทัตผู้เป็นบุตรของพราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[837] พ่อพราหมณ์ ภูริทัตนาคราชบูชาคุณพ่อผู้ไปถึงที่อยู่ของตน
เพราะเหตุไร คุณพ่อจึงปรารถนาที่จะประทุษร้าย
ต่อมิตรผู้ทำความดีเพราะความหลงอย่างนี้เล่า
[838] ถ้าคุณพ่อต้องการทรัพย์ พระภูริทัตก็คงจะให้
คุณพ่อจงไปขอเถิด พระภูริทัตคงจะให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่คุณพ่อ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[839] โสมทัต การกินของที่ถึงมือถึงภาชนะ
หรือตั้งอยู่เบื้องหน้าเป็นความประเสริฐ
ประโยชน์ที่เห็นประจักษ์อย่าได้ล่วงเลยเราไปเลย
(โสมทัตกล่าวว่า)
[840] คนผู้ประทุษร้ายมิตรสละความเกื้อกูล
จะต้องหมกไหม้อยู่ในนรกอันร้ายแรง
แผ่นดินย่อมสูบผู้นั้น หรือถึงมีชีวิตอยู่ก็ซูบซีด
[841] ถ้าพ่อต้องการทรัพย์ ลูกเข้าใจว่า
พ่อจักต้องประสบเวรที่ตนได้ทำไว้ในไม่ช้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :313 }