เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
(ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะตรัสว่า)
[703] ท่านบัณฑิต ท่านมีเสนาน้อย
จักข่มพระเจ้าพรหมทัตผู้มีเสนามากได้อย่างไร
ท่านไม่มีกำลังจักเดือดร้อน
เพราะพระเจ้าพรหมทัตมีกำลัง
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[704] ผู้มีปัญญา ถึงจะมีเสนาน้อย
ก็ชนะคนที่มีเสนามากแต่ไม่มีปัญญาได้
เหมือนพระราชาผู้ทรงพระปรีชา
ย่อมชนะพระราชาหลายพระองค์ผู้ไม่ทรงพระปรีชาได้
ดังดวงอาทิตย์ขึ้นมากำจัดความมืด
(พระเจ้าวิเทหะ ทรงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์แก่เสนกบัณฑิต
ว่า)
[705] ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย
เป็นสุขดีหนอ เพราะมโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้พ้น
(เสนกบัณฑิตได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิต
โพธิสัตว์ว่า)
[706] ข้าแต่มหาราช บัณฑิตทั้งหลาย
เป็นผู้นำความสุขมาให้โดยแท้
มโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้รอดพ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :292 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[707] พระเจ้าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก
เฝ้าระวังไว้ตลอดราตรีทั้งสิ้น
ครั้นรุ่งอรุณก็เสด็จไปถึงอุปการนคร1
[708] พระเจ้าปัญจาละพระนามว่าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก
เสด็จขึ้นประทับช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมีกำลัง
ต่อมีอายุ 60 ปีจึงเสื่อมกำลัง ได้รับสั่งแล้วว่า
[709] พระองค์ทรงสวมเกราะแก้วมณี
มีพระหัตถ์ทรงพระแสงศร ได้ตรัสสำทับกับเหล่าทหารหาญ
ผู้เชี่ยวชาญศิลปะทุก ๆ ด้าน ซึ่งมาประชุมกันอยู่
(บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงข้อความเหล่านั้นโดยย่อ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า)
[710] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
กองพลราบ ผู้มีฝีมือ ชำนาญในศิลปะธนู
ยิงได้แม่นยำ มาประชุมกันแล้ว
(พระเจ้าจูฬนีรับสั่งใหัจับพระเจ้าวิเทหะว่า)
[711] พวกท่านจงไสช้างพลายงาทั้งหลายที่มีกำลัง
ต่อมีอายุ 60 ปีจึงเสื่อมกำลังไป
ขอช้างทั้งหลายจงเหยียบย่ำทำลายเมือง
ที่พระเจ้าวิเทหะได้รับสั่งให้สร้างไว้ดีแล้ว
[712] ขอให้ลูกศรขาวด้านหน้าทำด้วยเขี้ยวลูกสัตว์
มีปลายแหลมคมแทงทะลุกระดูกที่ถูกปล่อยไปแล้ว
จงข้ามไปตกลงด้วยกำลังธนูเถิด

เชิงอรรถ :
1 อุปการนคร หมายถึงนครที่มโหสธบัณฑิตให้สร้างขึ้นในเขตเมืองปัญจาลนคร(ของพระเจ้าจุฬามณี เพื่อใช้
เป็นที่ประทับของพระเจ้าวิเทหะ เพื่อรอเวลาเข้าพิธีวิวาห์กับพระนางปัญจาลจันทนีธิดาของพระเจ้าจุฬามณี
(ขุ.ชา.อ. 9/107/386)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :293 }