เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
(ฝ่ายพระเจ้าจูฬนีตรัสตอบว่า)
[644] หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของพระองค์ ณ บัดนี้
(พระเจ้าวิเทหะเมื่อทรงปรึกษากับอาจารย์ผู้เป็นบัณฑิต จึงตรัสว่า)
[645] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่
จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่
บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าใจอย่างไรหนอ
[646] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่
จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่
บัณฑิตทั้งหลายจักทำอย่างไรหนอ
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[647] ข้าแต่มหาราช พระเจ้าจูฬนีพรหมทัตมีกำลังมาก
รักษาพระองค์ไว้ จะทรงประทุษร้ายพระองค์
รุ่งเช้าก็จักรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระองค์
(พระเจ้าวิเทหะทรงกลัวต่อมรณภัย ได้ตรัสว่า)
[648] หทัยของเราสั่นและปากก็แห้งผาก
เราไม่ได้รับความเย็นใจเลย เป็นเสมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด
[649] เบ้าหลอมทองของพวกช่างทองย่อมไหม้อยู่ข้างใน
หาไหม้ข้างนอกไม่ฉันใด
ใจของเราก็ฉันนั้น ไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :283 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ยินเสียงพระเจ้าวิเทหะคร่ำครวญ จึงกราบทูลว่า)
[650] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ทรงเป็นผู้ประมาท
ล่วงเลยการปรึกษา ทำลายการปรึกษา
บัดนี้ ขอชนทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา
จงป้องกันพระองค์เถิด
[651] พระราชาไม่ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ผู้เป็นอำมาตย์
ผู้ใคร่ประโยชน์และหวังดี ทรงยินดีด้วยปีติของพระองค์
จึงเหมือนเนื้อติดบ่วงนายพราน
[652] ปลาอยากกินเหยื่อสด กลืนขอเบ็ดที่ใช้เหยื่อปิดบังไว้
ก็ไม่รู้ว่าตนจะตายฉันใด
[653] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงติดอยู่ในกาม
ก็ย่อมไม่ทรงทราบพระธิดาของพระเจ้าจูฬนี
เหมือนปลาไม่รู้จักตนว่าจะตายฉันนั้น
[654] ถ้าพระองค์เสด็จไปแคว้นปัญจาละ
ก็จักเสียพระองค์ไปทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์
เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อตัวเดินไปตามทาง
[655] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน บุรุษผู้เป็นอนารยชน
ก็เป็นเหมือนงูที่อยู่ในชายพกจะพึงกัดได้
นักปราชญ์ไม่พึงผูกไมตรีกับบุรุษผู้นั้น
เพราะการสังคมกับบุรุษชั่วนำทุกข์มาให้โดยแท้
[656] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน
นักปราชญ์พึงผูกไมตรีกับบุคคลผู้มีศีล
เป็นพหูสูตที่รู้จักกันนั้นแหละ
เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำสุขมาให้โดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :284 }