เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 3.มหาโพธิชาดก (528)
[145] ถ้าว่าสัตว์ย่อมเข้าถึงความสุขและความทุกข์
เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนกระทำไว้ในชาติปางก่อน
เขาย่อมเปลื้องหนี้คือบาปกรรมเก่าที่ตนทำไว้นั้นได้
เมื่อความพ้นหนี้คือบาปกรรมเก่ามีอยู่
ใครเล่าในโลกนี้จะแปดเปื้อนบาป
[146] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[147] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[148] รูปของสัตว์ย่อมเกิดมีได้
เพราะอาศัยมหาภูตรูปทั้ง 4 เท่านั้น
ก็รูปย่อมเกิดมีได้เพราะมหาภูตรูปใด
ก็คล้อยไปตามมหาภูตรูป1นั่นเอง
[149] ชีวะย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น
ละไปแล้ว ละทิ้งไปแล้ว ย่อมพินาศ
โลกนี้ย่อมขาดสูญ ทั้งคนพาลและบัณฑิตก็ขาดสูญ
เมื่อโลกขาดสูญอยู่ ใครเล่าในโลกนี้ย่อมแปดเปื้อนบาป

เชิงอรรถ :
1 คล้อยไปตามมหาภูตรูป หมายถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยมหาภูตทั้ง 4 นี้ (คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม) ตาย
ลงในเวลาใด ร่างกายส่วนที่เป็นดินก็กลับกลายเป็นดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับกลายเป็นน้ำ ส่วนที่เป็นไฟ
ก็กลับกลายเป็นไฟ ส่วนที่เป็นลมก็กลับกลายเป็นลมในเวลานั้น (ขุ.ชา.อ. 8/148/66)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :28 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 3.มหาโพธิชาดก (528)
[150] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[151] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[152] นักปกครองทั้งหลายที่เป็นคนพาล
สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ได้กล่าวไว้ในโลกว่า
“บุคคลพึงฆ่ามารดาบิดา พี่ชาย น้องชาย
และบุตรภรรยา ถ้าพึงมีความประสงค์เช่นนั้น”
[153] บุคคลพึงนั่งหรือนอนใต้ร่มต้นไม้ใด
ไม่พึงหักรานกิ่งต้นไม้นั้น
เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนชั่ว
[154] ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นก็พึงถอนแม้ทั้งราก
อาตมภาพมีความต้องการอาหาร
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[155] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[156] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :29 }