เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
[613] นางนกตัวนั้นฉลาดในสิ่งทั้งปวง เจ้าจงถามมันโดยละเอียด
มันรู้ความลับทุกอย่างทั้งของพระราชา
และเกวัฏฏพราหมณ์โกสิยโคตรนั้น
[614] นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อมาธุระ ตัวมีขนปีกสีเขียว
รับคำของมโหสธบัณฑิตแล้วได้ไปยังที่อยู่ของนางนกสาลิกา
[615] แต่นั้น นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อว่ามาธุระนั้น
ครั้นไปถึงแล้วก็ได้ถามนางนกสาลิกา
ตัวมีกรงงาม มีเสียงเพราะว่า
[616] แม่กรงงาม เธอสบายดีหรือ
แม่เพศสวย เธอผาสุกหรือ
เธอได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งในกรงอันงามของเธออยู่หรือ
[617] นางนกสาลิกาตอบว่า สุวบัณฑิตผู้สหาย
ฉันสบายดีและไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง ฉันได้ข้าวตอกและน้ำผึ้งอยู่นะ
[618] ท่านมาจากที่ไหน หรือใครใช้ให้มา
สหาย ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยพบหรือเคยรู้จักท่านเลย
(นกแขกเต้าได้ฟังคำของนางนกสาลิกานั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[619] ฉันถูกเขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมบนปราสาทของพระเจ้ากรุงสีพี
ต่อมา พระราชาพระองค์นั้นทรงตั้งอยู่ในธรรม
โปรดให้ปล่อยเหล่าสัตว์ที่ถูกขังไว้จากที่ขัง
(นกแขกเต้าต้องการจะฟังความลับ จึงกล่าวมุสาว่า)
[620] ฉันนั้นได้มีนางนกสาลิกามีเสียงหวานตัวหนึ่งเป็นภรรยาเก่า
นางได้ถูกเหยี่ยวฆ่าตายเสียในห้องบรรทม
ต่อหน้าของฉันในกรงอันงามที่เห็นอยู่
[621] เพราะฉันรักเธอจึงมาหาเธอ
ถ้าเธอเปิดโอกาสให้ เราทั้ง 2 ก็จะได้อยู่ร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :278 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น ก็ดีใจ แต่ไม่ให้นกแขกเต้ารู้ว่าตัวก็รัก ทำเป็นไม่
ปรารถนา แล้วกล่าวว่า)
[622] ก็นกแขกเต้าก็ควรรักใคร่กับนางนกแขกเต้า
ส่วนนกสาลิกาก็ควรรักใคร่กับนางนกสาลิกา
นกแขกเต้ากับนางนกสาลิกาอยู่ร่วมกันจะเป็นเช่นไร
(นกแขกเต้าได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[623] ผู้ใดใคร่อยู่ในกามแม้แต่กับหญิงจัณฑาล
ผู้นั้นก็เป็นเหมือนกันทั้งหมด
เพราะในกามไม่มีคนที่จะไม่เหมือนกัน
(นกแขกเต้าบัณฑิตครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะประมวลเรื่องในอดีตมา
แสดง จึงกล่าวต่อว่า)
[624] มีพระชนนีของพระเจ้ากรุงสีพีพระนามว่าชัมพาวดี
พระนางเป็นพระมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าวาสุเทพกัณหโคตร
(นกแขกเต้าบัณฑิตยกอุทาหรณ์อย่างอื่นมากล่าวอีกว่า)
[625] มีกินนรีชื่อรัตนวดี แม้เธอก็ได้ร่วมรักกับวัจฉดาบส
มนุษย์ได้ร่วมรักกับนางเนื้อก็มี
ในความใคร่ มนุษย์หรือสัตว์ไม่มีต่างกัน
(นกแขกเต้าบัณฑิตเมื่อจะทดลองนางนกสาลิกา จึงกล่าวอีกว่า)
[626] แม่นกสาลิกาผู้มีเสียงไพเราะ เอาเถอะ ฉันจักไปละ
เพราะถ้อยคำของเธอนี้เป็นเหตุให้ฉันประจักษ์
เธอดูหมิ่นฉันแน่
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[627] มาธุรสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้ใจเร็ว
เชิญท่านอยู่ ณ ที่นี้แหละจนกว่าจะได้เฝ้าพระราชา
จนกว่าจะได้ฟังเสียงตะโพน และเห็นอานุภาพของพระราชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :279 }