เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
5. มโหสธชาดก1 (542)
ว่าด้วยพระมโหสธบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เข้ามาเฝ้า ก็สบาย
พระทัย เมื่อจะรับสั่งกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[590] พ่อมโหสธ พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละ
เสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
กองทัพของพระเจ้าปัญจาละนั้นประมาณไม่ได้
[591] มีกองช่างโยธา กองราบ
ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทุกอย่าง มีเสียงอึกทึกกึกก้อง
เป็นสัญญาให้กันและกันรู้ได้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์
[592] มีความรู้ในการใช้โลหธาตุ มีเครื่องประดับครบครัน
มีธงทิวสลอน ช้างและม้า สมบูรณ์ดีด้วยผู้เชี่ยวชาญศิลป์
ตั้งมั่นด้วยเหล่าทหารผู้แกล้วกล้า
[593] กล่าวกันว่า ในกองทัพนี้ มีบัณฑิต 10 คน
มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน มีการประชุมปรึกษากันในที่ลับ
พระมารดาของพระเจ้าปัญจาละเป็นองค์ที่ 11
ช่วยปกครองสั่งสอนชาวแคว้นปัญจาละ
[594] อนึ่ง ในบรรดาชนเหล่านี้
กษัตริย์ 101 พระนครผู้เรืองยศตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละ
ถูกชิงแคว้น กลัวภัย
จึงตกอยู่ในอำนาจของชาวแคว้นปัญจาละ

เชิงอรรถ :
1 พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสมโหสธชาดกซึ่ง
มีคำเริ่มต้นว่า พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละเสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. 9/209) (ต้นเรื่องมโหสธชาดกมีปรากฏในชาดกภาค 1 คือ พระไตรปิฎกเล่มที่ 27
ถึง 11 ตอน มีสัพพสังหารกปัญหชาดก เป็นต้น)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :274 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
[595] เป็นผู้ทำตามที่พระราชารับสั่ง
ไม่มีความปรารถนาจะกล่าว ก็จำต้องกล่าวคำเป็นที่รัก
ต้องตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละผู้มีอำนาจมาก่อน
ไม่มีความปรารถนาก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาละ
[596] กรุงมิถิลาก็ถูกล้อมด้วยกองทัพนั้นเป็น 3 ชั้น
เมืองหลวงของชาวแคว้นวิเทหะก็ถูกขุดเป็นคูโดยรอบ
[597] พ่อมโหสธ กองทัพที่แวดล้อมกรุงมิถิลานั้น
ปรากฏเหมือนดาวบนท้องฟ้า
พ่อจงรู้ว่า จักรอดพ้นได้อย่างไร
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[598] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงเหยียดพระบาทตามพระสำราญเถิด
ขอเชิญเสวยและรื่นรมย์พระหฤทัยในกามเถิด
พระเจ้าพรหมทัตจะต้องทิ้งกองทัพชาวแคว้นปัญจาละเสด็จหนีไป
(พราหมณ์เกวัฏเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าวิเทหะแล้วกราบทูลเหตุที่ตนมาว่า)
[599] พระราชามีพระประสงค์จะทำสันถวไมตรีกับพระองค์
จะพระราชทานรัตนะแก่พระองค์ ตั้งแต่นี้ไป
ราชทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ พูดคำเป็นที่รักจงมา
[600] ขอจงกล่าววาจาอ่อนหวาน เป็นที่ชื่นชมต่อกัน
ขอแคว้นปัญจาละกับแคว้นวิเทหะ
ทั้ง 2 แคว้นนั้นจงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรพราหมณ์เกวัฏแล้วตรัสถามถึงอาการที่สนทนา
กับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[601] ท่านเกวัฏ ท่านได้พบกับมโหสธเป็นอย่างไรหนอ
ขอเชิญเล่าเรื่องราวนั้น มโหสธกับท่านต่างอดโทษกันแล้วกระมัง
มโหสธยินดีแล้วกระมัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :275 }