เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 4.เนมิราชชาดก (541)
[494] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[495] หญิงเหล่านั้นเป็นกุลธิดาในมนุษยโลกที่เป็นอยู่นี้
มีการงานไม่บริสุทธิ์ ประพฤติไม่สงบเสงี่ยม
ทำตัวเป็นนักเลง ทอดทิ้งสามีแล้วไปคบหาชายอื่น
เพราะเหตุแห่งความเริงรมย์และเล่นสนุก
หญิงเหล่านั้นทำจิตของตนให้เริงรมย์อยู่กับชายอื่น
ในมนุษยโลกแล้ว มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[496] เพราะเหตุไร นายนิรยบาลอีกพวกหนึ่งนี้
จึงจับเท้าสัตว์นรกให้มีศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
[497] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[498] สัตว์นรกทั้งหลายเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
ต่างทำกรรมไว้ไม่ดี ล่วงละเมิดเหล่าภรรยาของชายอื่น
เช่นนั้นชื่อว่าเป็นผู้ลักของสำคัญที่สุด
จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :259 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 4.เนมิราชชาดก (541)
[499] สัตว์นรกเหล่านั้นเสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกนั้น
สิ้นปีเป็นอันมาก เพราะบุคคลผู้ทำบาปกรรมเป็นปกติ
ถูกกรรมของตนเชิดไว้ข้างหน้า ไม่มีการต้านทานได้เลย
สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
(พระเจ้าเนมิตรัสถามว่า)
[500] สัตว์นรกทั้งเล็กและใหญ่เหล่านี้
มีการประกอบเหตุการณ์ต่าง ๆ กัน
มีรูปร่างแสนจะน่ากลัว ปรากฏอยู่ในนรก
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันร้ายแรงแข็งกล้า
และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่
[501] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[502] เหล่าสัตว์นรกที่เมื่อมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เป็นผู้มีทิฏฐิสุดแสนชั่ว1 หลงทำกรรมเพราะความชะล่าใจ
และชักชวนผู้อื่นในทิฏฐิเช่นนั้น มีทิฏฐิชั่ว
จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันแรงแข็งกล้า
และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่

เชิงอรรถ :
1 ทิฏฐิสุดแสนชั่ว หมายถึงมีบาปธรรมมากด้วยความเห็นผิดที่มีวัตถุ 10 คือ การให้ทานไม่มีผล การบูชา
ไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การเสวยผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ แม้สมณ-
พราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี (ขุ.ชา.อ. 9/502/187)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :260 }