เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 4.เนมิราชชาดก (541)
[432] พระราชาเหล่านั้น พระราชามหากษัตริย์เหล่าอื่น
และพวกพราหมณ์เป็นอันมาก
ต่างก็บูชายัญเป็นอันมากแล้วก็ยังไม่ล่วงพ้นภพแห่งเปรตได้
ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อน อยู่คนเดียว
ไม่ยินดีกับใคร ย่อมไม่ได้ปีติอันเกิดแต่วิเวก
ชนเหล่านั้นถึงจะมีสมบัติเสมอกับทิพยสมบัติของพระอินทร์ก็จริง
ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นแลยังชื่อว่า ผู้ตกยาก
เพราะมีความสุขเนื่องด้วยผู้อื่น
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเหล่าดาบสผู้ล่วงภพแห่งเปรตได้แล้วบังเกิด
ในพรหมโลกด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า)
[433] ฤๅษีทั้ง 7 เหล่านี้ คือ
1. ยานหนฤๅษี 2. โสมยาคฤๅษี 3. มโนชวฤๅษี
[434] 4. สมุททฤๅษี 5. มาฆฤๅษี
6. ภรตฤๅษี 7. กาลปุรักขิตฤๅษี
กับฤๅษีอีก 4 ตน คือ
1. อังคีรสฤๅษี 2. กัสสปฤๅษี
3. กีสวัจฉฤๅษี 4. อกัตติฤๅษี
ออกบวชบำเพ็ญตบะ ล่วงพ้นกามาวจรภพได้แน่นอน
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงเล่าเรื่องที่ตนเคยเห็นมา จึงตรัสว่า)
[435] แม่น้ำที่ชื่อสีทามีอยู่ทางทิศเหนือ
เป็นแม่น้ำลึก ข้ามได้ยาก
ภูเขาทองมีสีดังไฟไหม้ต้นอ้อ โชติช่วงอยู่ทุกเมื่อ
[436] ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น มีต้นกฤษณาขึ้นงอกงาม
มีภูเขาซึ่งมีป่าไม้ขึ้นงอกงาม
ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์อย่างนี้นั้น
มีฤๅษีรุ่นเก่าประมาณหมื่นตนอาศัยอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :248 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 4.เนมิราชชาดก (541)
[437] หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐ
เพราะทาน ความสำรวม และความฝึก
หม่อมฉันได้อุปัฏฐากดาบสเห็นปานนี้
ที่บำเพ็ญวัตรซึ่งไม่มีวัตรอื่นยิ่งกว่า
ละคณะไปอยู่ผู้เดียวมีจิตเป็นสมาธิ
[438] หม่อมฉันจักนอบน้อมนรชนผู้มีชาติและไม่มีชาติ
ผู้ปฏิบัติตรงตลอดกาลเป็นนิตย์
เพราะเหล่าสัตว์เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
[439] ฉะนั้น วรรณะทั้งปวงที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ย่อมตกนรกเบื้องต่ำ วรรณะทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ได้
เพราะประพฤติธรรมสูงสุด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[440] ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราชครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว
จึงทรงสั่งสอนพระเจ้าเนมิผู้ครองแคว้นวิเทหะแล้ว
ได้เสด็จจากไปสู่หมู่เทพชาวสวรรค์
(ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว จึงตรัสเหตุนั้นอีกว่า)
[441] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
ผู้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ประมาณเท่าใด
จงตั้งใจฟังคุณเป็นอันมากทั้งสูงและต่ำนี้
ของเหล่ามนุษย์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
[442] เหมือนพระเจ้าเนมินี้ผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์กุศล
เป็นพระราชาผู้ทรงปราบอริราชศัตรูได้
ได้ทรงให้ทานแก่ชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวง
[443] เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานนั้นอยู่
ก็ได้เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :249 }