เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 4.เนมิราชชาดก (541)
[426] ท้าววาสวะทรงทราบว่าพระเจ้าเนมิมีพระโลมชาติชูชัน
ได้ตรัสตอบว่า หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มาในสำนักของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์
พระองค์อย่าทรงมีพระโลมชาติชูชัน
เชิญตรัสถามปัญหาที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด
[427] พระเจ้าเนมินั้นเมื่อท้าวเธอทรงถวายโอกาส
จึงได้ตรัสกับท้าววาสวะว่า ข้าแต่มหาราชผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
ข้าพเจ้าขอถามพระองค์ ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนมีผลมากกว่ากันเล่า
[428] ท้าววาสวะถูกพระเจ้าเนมิผู้เป็นเทพแห่งนรชนตรัสถามแล้ว
เมื่อจะตรัสตอบพระเจ้าเนมิ
ท้าวเธอทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์อยู่
จึงได้ตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า
[429] บุคคลย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ
เข้าถึงความเป็นเทวดาได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง
ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง
[430] เพราะพรหมจรรย์เหล่านี้มิใช่จะหาได้ง่าย ๆ
ด้วยการประกอบพิธีวิงวอนขอร้องอะไร ๆ
บุคคลผู้ที่เกิดในหมู่พรหมได้ต้องออกบวชบำเพ็ญตบะ
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเรื่องที่พระราชาทั้งหลายในอดีต ผู้บริจาค
มหาทานแล้วไม่สามารถพ้นไปจากกามาวจรภพได้ จึงได้ตรัสว่า)

[431] 1. พระเจ้าทุทีปะ 2. พระเจ้าสาคระ
3. พระเจ้าเสละ 4. พระเจ้ามุจลินท์
5. พระเจ้าภคีรสะ 6. พระเจ้าอุสินนะ
7. พระเจ้าอัตถกะ 8. พระเจ้าปุถุทธนะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :247 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 4.เนมิราชชาดก (541)
[432] พระราชาเหล่านั้น พระราชามหากษัตริย์เหล่าอื่น
และพวกพราหมณ์เป็นอันมาก
ต่างก็บูชายัญเป็นอันมากแล้วก็ยังไม่ล่วงพ้นภพแห่งเปรตได้
ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อน อยู่คนเดียว
ไม่ยินดีกับใคร ย่อมไม่ได้ปีติอันเกิดแต่วิเวก
ชนเหล่านั้นถึงจะมีสมบัติเสมอกับทิพยสมบัติของพระอินทร์ก็จริง
ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นแลยังชื่อว่า ผู้ตกยาก
เพราะมีความสุขเนื่องด้วยผู้อื่น
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเหล่าดาบสผู้ล่วงภพแห่งเปรตได้แล้วบังเกิด
ในพรหมโลกด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า)
[433] ฤๅษีทั้ง 7 เหล่านี้ คือ
1. ยานหนฤๅษี 2. โสมยาคฤๅษี 3. มโนชวฤๅษี
[434] 4. สมุททฤๅษี 5. มาฆฤๅษี
6. ภรตฤๅษี 7. กาลปุรักขิตฤๅษี
กับฤๅษีอีก 4 ตน คือ
1. อังคีรสฤๅษี 2. กัสสปฤๅษี
3. กีสวัจฉฤๅษี 4. อกัตติฤๅษี
ออกบวชบำเพ็ญตบะ ล่วงพ้นกามาวจรภพได้แน่นอน
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงเล่าเรื่องที่ตนเคยเห็นมา จึงตรัสว่า)
[435] แม่น้ำที่ชื่อสีทามีอยู่ทางทิศเหนือ
เป็นแม่น้ำลึก ข้ามได้ยาก
ภูเขาทองมีสีดังไฟไหม้ต้นอ้อ โชติช่วงอยู่ทุกเมื่อ
[436] ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น มีต้นกฤษณาขึ้นงอกงาม
มีภูเขาซึ่งมีป่าไม้ขึ้นงอกงาม
ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์อย่างนี้นั้น
มีฤๅษีรุ่นเก่าประมาณหมื่นตนอาศัยอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :248 }