เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 3.สุวัณณสามชาดก (540)
(ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า)
[401] ข้าพเจ้าเป็นผู้ชื่อว่าสาม
ขอความสุขความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ข้าพเจ้าลุกขึ้นได้แล้วโดยความสวัสดี
ขอท่านทั้งหลายจงอย่าคร่ำครวญไปนักเลย
จงพูดกับข้าพเจ้าด้วยเสียงอันไพเราะเถิด
(ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์เห็นพระราชา จึงกราบทูลว่า)
[402] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้เป็นใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว
ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้เถิด
[403] ข้าแต่พระราชา ขอเชิญเลือกเสวยผลมะพลับ
ผลมะซาง และผลหมากเม่า
ซึ่งเป็นผลไม้เล็กน้อยแต่ผลที่ดี ๆ เถิด
[404] น้ำใสเย็นข้าพระองค์ตักมาจากซอกเขาก็มีอยู่
จงโปรดเสวยจากนั้นเถิด พระเจ้าข้า
ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ทรงเห็นความอัศจรรย์นั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[405] เรางุนงงไปหมด หลงไปทั่วทุกทิศ
เราได้เห็นสามตายไปแล้ว
ท่านสาม ทำไมหนอ ท่านจึงกลับฟื้นชีวิตคืนมาได้
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ทูลว่า)
[406] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่
แต่มีเวทนามาก ปราศจากความรู้สึก1
แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ปราศจากความรู้สึก หมายถึงวาระจิตที่หยั่งลงสู่ภวังค์ (ความอยู่โดยไม่รู้สึกตัว, สลบ) (ขุ.ชา.อ. 9/406/148)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :243 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 3.สุวัณณสามชาดก (540)
[407] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่
แต่มีเวทนามาก ถึงความดับสนิท
แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว
(สุวรรณสามโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พระเจ้าปิลยักษ์ว่า)
[408] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม
แม้เทวดาก็เยียวยารักษาบุคคลผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดานั้น
[409] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม
แม้นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้
บุคคลนั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น ทรงประคองอัญชลี ขอร้องอยู่ว่า)
[410] เรายิ่งงุนงงหนักขึ้น หลงไปทั่วทุกทิศ
ท่านสาม เราขอถึงท่านว่าเป็นที่พึ่ง
และท่านก็จงเป็นที่พึ่งของเรา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวทศพิธราชธรรมถวายว่า)
[411] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระมารดาและพระบิดาเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[412] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระมเหสีเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[413] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์เถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :244 }