เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 2.มหาชนกชาดก (539)
[270] ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์
ข้าพเจ้านั้นละทิ้งสิรินั้นเสียแล้วลงจากยาน
เข้าไปใกล้ต้นมะม่วงทั้งที่มีผลและไม่มีผล
[271] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นมะม่วง
อันมีผลถูกฟาดกระจัดกระจายย่อยยับ
ส่วนมะม่วงอีกต้นหนึ่งสีเขียวชะอุ่มน่าพอใจ
[272] ศัตรูทั้งหลายจักกำจัดแม้พวกเรา
ผู้เป็นอิสระ ผู้มีเสี้ยนหนามมาก
เหมือนต้นมะม่วงที่มีผลถูกมนุษย์ทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว
[273] เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา
คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์
ใครเล่าจักฆ่าคนที่ไม่มีที่อยู่ ที่ไม่มีความคุ้นเคย
ต้นมะม่วงที่มีผลและไม่มีผลทั้ง 2 ต้นนั้นเป็นครูของข้าพเจ้า
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[274] ชนทั้งปวง คือ กองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ ต่างก็ตกใจว่า
พระราชาทรงผนวชเสียแล้ว
[275] ขอพระองค์ได้ทรงปลอบชุมชนให้เบาใจ
ทรงวางหลักปกครอง
ทรงอภิเษกพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติแล้ว
จึงจักทรงผนวชในภายหลัง
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[276] เราได้สละชาวชนบท มิตร อำมาตย์
และพระญาติทั้งหลายแล้ว พระราชโอรสของชาวแคว้นวิเทหะ
และคนผู้มีอายุยืน ผู้จักผดุงรัฐให้เจริญก็มีอยู่
เธอเหล่านั้นจักครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา นะปชาบดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :225 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 2.มหาชนกชาดก (539)
[277] จงมาเถิด เราจะตามสอนเธอด้วยวาจาที่ชอบ
เธอจะไปสู่ทุคติด้วยกาย วาจา และใจ เพราะบาปใด
เมื่อเธอครองราชสมบัติก็จักทำบาปทุจริตนั้นเป็นอันมาก
[278] ผู้ที่ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้
ซึ่งสำเร็จมาแต่ผู้อื่นนี้ นั่นเป็นธรรมของนักปราชญ์
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[279] กุลบุตรผู้ฉลาดแม้คนใดไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ 41
จะพึงตายอย่างน่าอนาถเพราะความหิว
กุลบุตรผู้ฉลาดนั้นก็ไม่พึงบริโภคก้อนข้าว
ที่เปื้อนฝุ่น ซึ่งไม่ดีมิใช่หรือ
กิริยาของพระองค์นี้ไม่ดี ไม่งามเลย
ข้าแต่พระชนก พระองค์พึงเสวยก้อนเนื้อที่เป็นเดนสุนัข
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[280] พระนางสีวลี บิณฑบาตใด
เป็นของอันบุคคลผู้ครองเรือน หรือสุนัขสละแล้ว
บิณฑบาตนั้นชื่อว่าไม่เป็นอาหารของอาตมภาพก็หามิได้
ของบริโภคเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ได้มาโดยธรรม
ของบริโภคทั้งหมดนั้นกล่าวกันว่า ไม่มีโทษ
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับเด็กหญิงว่า)
[281] กุมาริกาผู้นอนแนบมารดา ผู้ประดับอยู่เป็นนิตย์
เพราะเหตุไร กำไลมือข้างหนึ่งของเธอจึงมีเสียงดัง
อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ 4 พระนางสีวลีตรัสหมายถึงว่า ถ้าบุคคลเราไม่บริโภคอาหาร
มื้อสุดท้าย จะพึงตายไปเพราะความหิว ผู้นั้นพึงเป็นสัตบุรุษเชื้อสายกุลบุตร จึงไม่พึงเสวยอาหารนั้น
เพราะทรงรังเกียจเนื้อที่เป็นเดนสุนัขที่พระมหาชนกนำมาย่างเสวย (ขุ.ชา.อ. 9/279/100)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :226 }