เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 2.มหาชนกชาดก (539)
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[258] ท่านพราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีหนอ
ท่านพราหมณ์ผู้นิรทุกข์
ข้าพเจ้าขอถามท่าน ท่านเป็นใครหนอ
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[259] ชนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยชื่อว่า นารทะ
โดยโคตรว่า กัสสปะ
อาตมภาพมาในสำนักของพระองค์ด้วยเข้าใจว่า
การสมาคมกับสัตบุรุษเป็นการดี
[260] ขอความเพลิดเพลินและวิหารธรรมทั้งปวงจงมีแก่พระองค์เท่านั้น
พระองค์จงบำเพ็ญสิ่งที่บกพร่องให้บริบูรณ์เถิด
จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบเถิด
[261] จงทรงคลี่คลายความยุบลงและฟูขึ้น
จงสักการะกรรม วิชชา ธรรม1
และสมณธรรมแล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์เถิด
[262] ข้าแต่พระชนก พระองค์ทรงละทิ้งช้าง ม้า
ชาวพระนคร และชนบทเป็นอันมาก
เสด็จออกผนวช ทรงยินดีในบาตรดิน
[263] ชาวชนบท มิตร อำมาตย์ และพระญาติเหล่านั้น
ได้ทำความผิดอะไรให้แก่พระองค์หรือหนอ
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงชอบพระทัยบาตรดินนั้น
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[264] ท่านฤๅษี ข้าพเจ้ามิได้เคยเอาชนะ
พระญาติอะไร ๆ โดยส่วนเดียวในกาลไหน ๆ โดยอธรรมเลย
แม้พระญาติทั้งหลายก็มิเคยได้เอาชนะข้าพเจ้าโดยอธรรม

เชิงอรรถ :
1 คำว่า กรรม ได้แก่กุศลกรรมบถ 10, คำว่า วิชชา ได้แก่ญาณในอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 คำว่า กรรม
ได้แก่สมณธรรมกล่าวคือการบำเพ็ญกสิณ (ขุ.ชา.อ. 9/261/93

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :223 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 2.มหาชนกชาดก (539)
[265] ข้าพเจ้าได้เห็นประเพณีของโลก
เห็นโลกถูกกิเลสกัดกร่อน ถูกกิเลสทำให้เป็นดุจเปือกตม
จึงได้ทำเหตุนี้ให้เป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า
ปุถุชนจมอยู่ในกิเลสวัตถุใด
สัตว์เป็นจำนวนมากย่อมเดือดร้อน
และย่อมถูกฆ่า ในกิเลสวัตถุนั้น
ดังนี้แล้ว จึงได้บวชเป็นภิกษุ นะท่านผู้ครองหนังสัตว์ผู้เจริญ
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[266] ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกธรรมคำสั่งสอนพระองค์
คำอันสะอาดนี้เป็นคำของใคร
ท่านผู้เป็นจอมทัพ เพราะบอกเจาะจงถึงดาบสผู้เป็นกรรมวาที
หรือสมณะคือพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยวิชชา
นักปราชญ์ไม่เรียกผู้ประพฤติวัตรว่า เป็นสมณะ
เหมือนการก้าวล่วงทุกข์ได้เลย
[267] ท่านผู้ครองหนังสัตว์
แม้ข้าพเจ้าจะสักการะสมณะหรือพราหมณ์โดยส่วนเดียว
แต่ไม่เคยเข้าไปใกล้ไต่ถามอะไร ๆ ในกาลไหน ๆ เลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[268] ข้าพเจ้ารุ่งเรืองด้วยสิริไปยังพระราชอุทยาน
ด้วยอานุภาพใหญ่ ขณะที่เพลงขับที่เขาขับร้อง
ดนตรีที่ไพเราะกำลังบรรเลงอยู่
[269] ข้าพเจ้านั้นได้เห็นต้นมะม่วงที่กำลังมีผลอยู่ภายนอกกำแพง
ถูกพวกมนุษย์ผู้ที่ต้องการผลฟาดอยู่
ในพระราชอุทยานอันกึกก้องด้วยการประโคมดนตรี
ประกอบด้วยคนขับและคนประโคม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :224 }