เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 2.มหาชนกชาดก (539)
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[253] เสียงอึกทึกกึกก้องอะไรกันนั่น
ใครกันหนอเล่นกันเหมือนอยู่ในบ้าน
ท่านสมณะ อาตมภาพขอถาม
มหาชนนั้นติดตามท่านมาเพื่อประโยชน์อะไร
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[254] มหาชนนี้ติดตามข้าพเจ้าผู้ละทิ้งพวกเขามาในที่นี้
ผู้ล่วงเขตแดนคือกิเลสไป
เพื่อบรรลุถึงโมเนยยธรรม คือญาณของพระมุนี
แต่ยังเจือปนด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลายอยู่
พระคุณเจ้าก็รู้อยู่จะถามไปทำไม
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[255] พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระ (เพศนักบวช) นี้
อย่าได้เข้าพระทัยว่า “เราข้ามเขตแดนคือกิเลสแล้ว”
กรรมคือกิเลสนี้จะพึงข้ามได้ด้วยเพศแห่งบรรพชิตก็หาไม่
เพราะอันตรายทั้งหลายยังมีอยู่มาก
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[256] อันตรายอะไรหนอ
จะพึงมีแก่ข้าพเจ้าผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้
ข้าพเจ้าไม่ปรารถนากามทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[257] อันตรายเป็นอันมากทีเดียว
คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน
ความบิดกาย ความเหนื่อยหน่าย
ความเมาอาหารที่มีอยู่ในสรีระของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :222 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 2.มหาชนกชาดก (539)
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[258] ท่านพราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีหนอ
ท่านพราหมณ์ผู้นิรทุกข์
ข้าพเจ้าขอถามท่าน ท่านเป็นใครหนอ
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[259] ชนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยชื่อว่า นารทะ
โดยโคตรว่า กัสสปะ
อาตมภาพมาในสำนักของพระองค์ด้วยเข้าใจว่า
การสมาคมกับสัตบุรุษเป็นการดี
[260] ขอความเพลิดเพลินและวิหารธรรมทั้งปวงจงมีแก่พระองค์เท่านั้น
พระองค์จงบำเพ็ญสิ่งที่บกพร่องให้บริบูรณ์เถิด
จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบเถิด
[261] จงทรงคลี่คลายความยุบลงและฟูขึ้น
จงสักการะกรรม วิชชา ธรรม1
และสมณธรรมแล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์เถิด
[262] ข้าแต่พระชนก พระองค์ทรงละทิ้งช้าง ม้า
ชาวพระนคร และชนบทเป็นอันมาก
เสด็จออกผนวช ทรงยินดีในบาตรดิน
[263] ชาวชนบท มิตร อำมาตย์ และพระญาติเหล่านั้น
ได้ทำความผิดอะไรให้แก่พระองค์หรือหนอ
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงชอบพระทัยบาตรดินนั้น
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[264] ท่านฤๅษี ข้าพเจ้ามิได้เคยเอาชนะ
พระญาติอะไร ๆ โดยส่วนเดียวในกาลไหน ๆ โดยอธรรมเลย
แม้พระญาติทั้งหลายก็มิเคยได้เอาชนะข้าพเจ้าโดยอธรรม

เชิงอรรถ :
1 คำว่า กรรม ได้แก่กุศลกรรมบถ 10, คำว่า วิชชา ได้แก่ญาณในอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 คำว่า กรรม
ได้แก่สมณธรรมกล่าวคือการบำเพ็ญกสิณ (ขุ.ชา.อ. 9/261/93

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :223 }