เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[98] อภิปารกกัตตุบุตร ก็ท่านได้ประพฤติธรรมทุกอย่างแก่เราโดยแท้
คนสองเท้าของท่าน คนอื่นใครเล่าหนอ
จะกระทำความสวัสดีให้แก่ท่านในเวลารุ่งอรุณ ในชีวโลกนี้
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[99] พระองค์ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม
พระองค์ทรงมีธรรมคุ้มครอง เป็นผู้ถึงธรรม ทรงรู้แจ้งธรรม
ทรงมีปัญญาดี พระองค์ผู้ทรงรักษาธรรม
ขอพระองค์ผู้มีธรรมคุ้มครองแล้วนั้น
จงดำรงพระชนม์ยั่งยืนนาน
และโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[100] เชิญเถิด อภิปารกะ ท่านจงฟังคำของเรา
เราจักแสดงธรรมที่พวกสัตบุรุษส้องเสพแล้วแก่ท่าน
[101] พระราชาทรงพอพระทัยในธรรมเป็นพระราชาที่ดี
คนมีความรู้รอบคอบเป็นคนดี
ความไม่ประทุษร้ายมิตรเป็นความดี
การไม่กระทำบาปเป็นเหตุนำสุขมาให้
[102] ในแคว้นของพระราชาผู้ไม่กริ้ว ผู้ดำรงอยู่ในธรรม
มนุษย์ทั้งหลายพึงหวังความสุขในเรือนของตน
ภายใต้ร่มเงาอันร่มเย็น
[103] กรรมใดที่มิได้พิจารณาแล้วกระทำลงไป
เป็นกรรมไม่ชอบ เราไม่ชอบกรรมนั้นเลย
ฝ่ายพระราชาเหล่าใดทรงทราบแล้ว
จึงทรงกระทำลงไปด้วยพระองค์เอง
เราชอบใจกรรมของพระราชาเหล่านั้น
ขอท่านจงฟังข้ออุปมาเหล่านี้ของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :20 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
[104] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
[105] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[106] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[107] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข1
[108] อภิปารกะ เราไม่ปรารถนาความเป็นเทวดา
หรือเพื่อจะชนะแผ่นดินทั้งปวงนี้โดยอธรรมเลย
[109] แท้จริง รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง
คือ โค ทาส เงิน ผ้า และจันทน์เหลือง
ก็มีอยู่ในหมู่มนุษย์ในโลกนี้

เชิงอรรถ :
1 องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/70/115-116, ขุ.ชา. (แปล) 27/133-136/148

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :21 }