เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[94] ท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
ทั้งนางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
เทวดา บิดา1 และประชาชนทั้งปวงจะพึงนินทาได้
อนึ่ง เราก็ได้เห็นบาปในสัมปรายภพ
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[95] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ชาวชนบทพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งปวง
จะพึงกล่าวข้อนั้นว่าไม่เป็นธรรมหาได้ไม่
ข้าพระองค์ถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
เพราะนางอุมมาทันตี ข้าพระองค์ถวายพระองค์แล้ว
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[96] นี่แน่ะท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
นางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
ก็ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายที่ประกาศไว้ดีแล้ว
ยากที่จะก้าวล่วงได้ เหมือนฝั่งสมุทร
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[97] พระองค์ทรงเป็นอาหุเนยยบุคคล2
ทรงอนุเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทรงเป็นผู้ปกป้อง
คุ้มครอง และทรงรักษาความประสงค์ของข้าพระองค์
ข้าแต่พระราชา ก็ยัญที่บูชาแล้วในพระองค์มีผลมาก
ขอพระองค์ทรงรับนางอุมมาทันตี
ตามความประสงค์ของข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
1 บิดา ในที่นี้หมายถึงพรหม (ขุ.ชา.อ. 8/94/47)
2 อาหุเนยยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาคำนับ (ขุ.ชา.อ. 8/97/47)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :19 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[98] อภิปารกกัตตุบุตร ก็ท่านได้ประพฤติธรรมทุกอย่างแก่เราโดยแท้
คนสองเท้าของท่าน คนอื่นใครเล่าหนอ
จะกระทำความสวัสดีให้แก่ท่านในเวลารุ่งอรุณ ในชีวโลกนี้
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[99] พระองค์ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม
พระองค์ทรงมีธรรมคุ้มครอง เป็นผู้ถึงธรรม ทรงรู้แจ้งธรรม
ทรงมีปัญญาดี พระองค์ผู้ทรงรักษาธรรม
ขอพระองค์ผู้มีธรรมคุ้มครองแล้วนั้น
จงดำรงพระชนม์ยั่งยืนนาน
และโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[100] เชิญเถิด อภิปารกะ ท่านจงฟังคำของเรา
เราจักแสดงธรรมที่พวกสัตบุรุษส้องเสพแล้วแก่ท่าน
[101] พระราชาทรงพอพระทัยในธรรมเป็นพระราชาที่ดี
คนมีความรู้รอบคอบเป็นคนดี
ความไม่ประทุษร้ายมิตรเป็นความดี
การไม่กระทำบาปเป็นเหตุนำสุขมาให้
[102] ในแคว้นของพระราชาผู้ไม่กริ้ว ผู้ดำรงอยู่ในธรรม
มนุษย์ทั้งหลายพึงหวังความสุขในเรือนของตน
ภายใต้ร่มเงาอันร่มเย็น
[103] กรรมใดที่มิได้พิจารณาแล้วกระทำลงไป
เป็นกรรมไม่ชอบ เราไม่ชอบกรรมนั้นเลย
ฝ่ายพระราชาเหล่าใดทรงทราบแล้ว
จึงทรงกระทำลงไปด้วยพระองค์เอง
เราชอบใจกรรมของพระราชาเหล่านั้น
ขอท่านจงฟังข้ออุปมาเหล่านี้ของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :20 }