เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 1.เตมิยชาดก (538)
[31] อนึ่ง ประโยชน์โดยชอบของเหล่าชน
ผู้ไม่รีบร้อน ย่อมเผล็ดผลโดยแท้
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
ออกบวชแล้วย่อมไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
(นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[32] พระองค์เป็นผู้มีพระวาจาไพเราะ
มีพระดำรัสสละสลวยอย่างนี้
เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนัก
ของพระบิดาและพระมารดาในเวลานั้น
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[33] เราเป็นคนง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีข้อต่อก็หามิได้
เป็นคนหนวก เพราะไม่มีโสตประสาทก็หามิได้
เป็นคนใบ้ เพราะไม่มีชิวหาประสาทก็หามิได้
ท่านอย่าเข้าใจว่า เราเป็นใบ้
[34] เราระลึกชาติก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้
เราได้เสวยราชสมบัติในครั้งนั้นแล้ว
ต้องไปตกนรกอันแสนสาหัส
[35] เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น 20 ปี
แล้วต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกถึง 80,000 ปี
[36] เรากลัวจะต้องได้เสวยราชสมบัตินั้น
จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า
ขอชนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราไว้ในราชสมบัติเลย
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่พูดในสำนัก
ในสำนักของพระบิดาและพระมารดาในกาลนั้น
[37] พระบิดาทรงอุ้มเราให้นั่งบนพระเพลาแล้ว
ตรัสพิพากษาว่า ท่านทั้งหลายจงฆ่าโจรคนหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :188 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 1.เตมิยชาดก (538)
จงจองจำโจรอีกคนหนึ่งไว้ในเรือนจำ
จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่งแล้ว ราดด้วยน้ำกรด
จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว
พระบิดาตรัสพิพากษาอรรถคดีแก่มหาชนนั้นด้วยประการฉะนี้
[38] เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคายที่พระบิดาตรัสนั้น
จึงกลัวต่อการเสวยราชสมบัติ
เรามิได้เป็นคนใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นคนใบ้
มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย ก็ทำเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย
เรากลิ้งเกลือกนอนจมอยู่ในอุจจาระและปัสสาวะของตน
[39] ชีวิตเป็นของยาก เป็นของเล็กน้อย1
ซ้ำประกอบไปด้วยทุกข์
ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้วพึงก่อเวรกับใคร ๆ
[40] ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้วพึงก่อเวรกับใคร ๆ
เพราะไม่ได้ปัญญาและเพราะไม่ได้เห็นธรรม
[41] ความหวังผลของเหล่าคนผู้ไม่รีบร้อนย่อมสำเร็จแน่
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
นายสารถี ท่านจงรู้ไว้อย่างนี้เถิด
[42] อนึ่ง ประโยชน์โดยชอบของเหล่าชน
ผู้ไม่รีบร้อน ย่อมเผล็ดผลโดยแท้
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
ออกบวชแล้วย่อมไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ

เชิงอรรถ :
1 ชีวิตเป็นของเล็กน้อย หมายความว่า หากชีวิตของสัตว์ทั้งหลายได้รับความลำบาก ก็จะดำรงอยู่ได้นาน
มาก แต่หากได้รับความสบาย ก็จะดำรงอยู่ได้ชั่วเวลานิดหน่อย และชีวิตนี้ยากเข็ญ เป็นของเล็กน้อย คือ
มีประมาณน้อยนิด อีกทั้งเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยความสั่งสมทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้น (ขุ.ชา.อ. 9/39/27-28)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :189 }