เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 1.เตมิยชาดก (538)
(สุนันทสารถีได้ฟังคำนั้น ขุดหลุมมิได้เงยหน้าดู จึงกราบทูลว่า)
[4] พระโอรสของพระราชาเป็นใบ้
และเป็นง่อยเปลี้ยขาดความสำนึก
พระราชาตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า ควรฝังลูกเราไว้ในป่าช้า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ ตรัสกับสุนันทสารถีว่า)
[5] นายสารถี เรามิได้เป็นคนหนวก
คนใบ้ คนเปลี้ย และมิได้เป็นคนบกพร่อง1
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
[6] ท่านจงดูขา แขน และฟังภาษิตของเรา
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(สุนันทสารถีไม่รู้ จึงกราบทูลว่า)
[7] ท่านเป็นเทวดา คนธรรพ์
หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
ท่านเป็นใครหรือเป็นบุตรของใคร
พวกเราจักรู้จักท่านได้อย่างไร
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อแสดงตนให้ปรากฏ แสดงธรรมแก่สุนันทสารถีนั้น จึง
ตรัสว่า)
[8] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์
ทั้งมิใช่ท้าวสักกปุรินททะ
เราเป็นผู้ที่ท่านจะฝังในหลุม
เป็นโอรสของพระเจ้ากาสี
[9] เราเป็นโอรสของพระราชา
องค์ที่ท่านเข้าไปพึ่งบารมีเลี้ยงชีพอยู่เสมอ
นายสารถี ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

เชิงอรรถ :
1 คำว่า มิได้เป็นคนบกพร่อง หมายถึงเป็นผู้มีอินทรีย์สมบูรณ์ (ขุ.ชา.อ. 9/5/20)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :184 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 1.เตมิยชาดก (538)
[10] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มแห่งต้นไม้ใด
ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
เพราะคนผู้ประทุษร้ายมิตร ชื่อว่าเป็นคนเลวทราม
[11] พระราชาก็เหมือนต้นไม้ เราก็เป็นเหมือนกิ่งไม้
ข้าแต่มหาราช นายสารถีเป็นเหมือนคนผู้อาศัยร่มไม้
นายสารถี ถ้าท่านฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ปรารภคาถาบูชามิตร 10 คาถาว่า)
[12] ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร
ผู้นั้นพรากจากเรือนของตนแล้ว
ย่อมมีอาหารสมบูรณ์
คนเป็นอันมากย่อมเข้าไปพึ่งพาผู้นั้นเลี้ยงชีพ
[13] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
จะไปสู่ชนบท นิคม และราชธานีใด ๆ
ก็เป็นผู้อันชนทั้งหลายในชนบท นิคม
และราชธานีนั้น ๆ บูชาไปทุกแห่งหน
[14] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ไม่มีพวกโจรข่มเหง
พระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงดูหมิ่น ย่อมข้าม(ชนะ)ศัตรูทั้งปวงได้
[15] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
ไม่โกรธเคืองใคร ๆ มาสู่เรือนของตน
ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนยินดีต้อนรับในที่ประชุม
และเป็นคนชั้นสูงของหมู่ญาติ
[16] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร สักการะคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้ที่คนอื่นสักการะตอบ
เคารพคนอื่นแล้วก็มีคนอื่นเคารพตอบ
เป็นผู้อันเขาสรรเสริญเกียรติคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :185 }